เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และสื่ออื่นๆ กรณีกระทรวงการคลังจะเสนอโครงสร้างภาษียาสูบที่ปรับใหม่ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 21 ก.ย. เพื่อให้ทันประกาศใช้ในวันที่ 1 ต.ค. แต่ก็ไม่มีข่าวจากที่ประชุม ครม. และช่วงค่ำ รมว.คลัง ให้ข่าวว่ายังไม่มีการตัดสินใจเรื่องโครงสร้างภาษีในที่ประชุม ครม. และได้สั่งการให้กรมสรรพสามิตไปตรวจสอบเรื่องการกักตุนบุหรี่นั้น ตนกังวลว่าหากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยังตกลงกันเรื่องโครงสร้างอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ไม่ได้ อาจทำให้ที่ประชุม ครม. ในที่ 28 ก.ย. ต้องมีมติให้เลื่อนการขึ้นภาษีและให้ใช้โครงสร้างภาษีเดิม ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2560 ต่อไปอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เนื่องจากใช้มา 4 ปี สร้างปัญหาด้านการจัดเก็บรายได้ กระทบต่อชาวไร่ยาสูบ ไม่ได้ส่งผลดีต่อการคุ้มครองสุขภาพประชาชน ที่สำคัญได้มีการเลื่อนการขึ้นภาษีมาถึง 2 ครั้งในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา จึงไม่ควรเลื่อนแล้วเลื่อนอีก  

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ตนขอเสนอว่า ในส่วนของผลกระทบต่อสุขภาพและการจัดเก็บรายได้ไม่ว่าโครงสร้างหรืออัตราภาษีจะเป็นอย่างไร จะตัดสินใจเป็นโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่อัตราเดียว หรือสองอัตรา ประเด็นที่สำคัญที่ต้องตระหนักคือโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ที่ ครม. จะเห็นชอบ จะต้องทำให้ราคาขายปลีกบุหรี่แพงขึ้น อย่างน้อยซองละ 8 ถึง 10 บาท จากปัจจุบันราคาซองละประมาณ 60 บาท ต้องขยับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยซองละ 68-70 บาท ซึ่งเป็นการขึ้นราคาเหมือนกับอัตราภาษีที่เคยปรับเพิ่มในอดีต ซึ่งจะทำให้กระทรวงการคลังสามารถเก็บภาษีบุหรี่ได้เพิ่มขึ้น มีเม็ดเงินไปช่วยเหลือเยียวยาชาวไร่ยาสูบได้ และที่สำคัญคือจะทำให้การสูบบุหรี่ลดลง โดยเฉพาะในเยาวชนที่มีกำลังซื้อน้อย 

ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ส่วนผลกระทบที่อาจเกิดต่อชาวไร่ยาสูบ ขอให้ ครม. มีมติเกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาให้ชัดเจนขณะที่ผลกระทบต่อบุหรี่หนีภาษีหรือบุหรี่เถื่อนนั้น เป็นปัญหาที่รัฐบาลนี้สามารถแก้ไขได้ หาก ครม. มีมติให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมลงสัตยาบัน ในพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้ายาสูบที่ผิดกฎหมาย ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาที่ครบวงจรรอบด้าน ส่งผลดีต่อการควบคุมบุหรี่หนีภาษี และการกำหนดนโยบายภาษีในอนาคต.