จากกรณีเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ลงนามประกาศระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังแต่ละประเภทและการอื่นตามมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 พร้อมส่งหนังสือแจ้งไปยัง ผบ.เรือนจำ ผอ.ทัณฑสถาน ผอ.สถานกักขัง และ ผอ.สถานกักกัน เพื่อให้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว ตามที่มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ตัวกฎหมายได้กำหนดชัดเจนให้กรมราชทัณฑ์จะต้องไปออกระเบียบ แนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง จึงหมายความว่า ผู้ต้องขังที่จะผ่านเกณฑ์ได้รับสิทธิประโยชน์จากระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 นั้น จะเป็นผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง จากรายคดีใด คดีใดได้รับการยกเว้นหรือไม่ หรือต้องรับโทษจำคุกมานานเท่าไรแล้ว และหากต้องไปคุมขังที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร มีกิจกรรมประจำวันเช่นอะไรบ้าง รวมถึงจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่คุมขัง และบทบาทในการรับผิดชอบ ต้องควบคุมอย่างไร ดูแลผู้ต้องขังอย่างไรไม่ให้มีความเสี่ยงกระทำความผิดซ้ำ และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะต้องควบคุมดูแลผู้ต้องขังอย่างไร

ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดที่เหลือนี้ เราจะต้องไปยกร่างออกเป็นระเบียบอีก 1 ฉบับ เพื่อส่งต่อไปยังเรือนจำ/ทัณฑสถานทุกแห่งทั่วประเทศในการคัดกรองผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติตามที่ระเบียบกำหนดไว้ และเสนอต่อคณะทำงาน (คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง) ตามระเบียบเพื่อคัดครองพิจารณาอีกชั้น ส่วนสิ่งสำคัญอีกประการที่กรมราชทัณฑ์จะต้องดำเนินการ คือ ระยะเวลาปลอดภัย เช่น ผู้ต้องขังรายดังกล่าวจะต้องจำคุกมาแล้วเท่าไร บางประเทศอาจกำหนดให้รับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ใน 4 หรือบางประเทศอาจ 1 ใน 3 เป็นต้น ซึ่งเราก็จะต้องทำเรื่องนี้เช่นกัน เพราะในงานวิจัยได้ระบุว่าการที่ผู้ต้องขังใดได้รับโทษจำคุกมาสักระยะหนึ่งแล้ว มักจะไม่มีปัญหาต่อพฤติกรรมหรือมีความเสี่ยง จึงสรุปได้ว่าแม้จะมีการบังคับใช้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำทันที แต่ก็ยังต้องรอระเบียบอีกฉบับที่ตนได้เรียนไปข้างตนก่อน เพราะระเบียบคุมขังนอกเรือนจำนั้น รูปธรรมในการนำไปปฏิบัติยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ ส่วนระยะเวลาที่คาดการณ์กันไว้ว่าอยากให้ระเบียบแนวทางการปฏิบัติ การกำหนดคุณสมบัติผู้ต้องขังแล้วเสร็จก็คือภายในเดือน ธ.ค.นี้ แต่จะบังคับใช้ได้จริง คาดว่าจะอยู่ในช่วงปี 2567

นายสหการณ์ เผยอีกว่า นอกจากนี้ เรายังต้องพิจารณาถึงการติดกำไล EM สำหรับผู้ต้องขังที่ได้รับสิทธิคุมขังนอกเรือนจำ ว่าจะมีผู้ต้องขังรายใดบ้างที่ต้องใช้กำไล และยังต้องกำหนดอาณาเขตพื้นที่บริเวณว่ากี่กิโลเมตรจึงจะมีความปลอดภัย และอาจต้องเพิ่มในส่วนของกล้องวงจรปิดที่จะเชื่อมกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อการจับตาสอดส่องดูแล เพราะเราให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยภายในสังคมเป็นอันดับสูงสุด รองลงมาคือเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่จะต้องควบคู่ไปด้วยกัน ส่วนคดีของผู้ต้องขังที่อาจมีการพิจารณายกเว้นไม่ให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากระเบียบคุมขังภายนอกเรือนจำ อาทิ คดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรง คดีค้ามนุษย์ คดีที่เกี่ยวกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน คดีทางเพศ (ฆ่าข่มขืน) คดียาเสพติด และคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเป็นภัยร้ายแรงของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีทุจริตคอรัปชั่น เรายังไม่ได้มีการลงลึกในรายละเอียด จะต้องมีการไปหารืออีกครั้ง ทั้งนี้ ตนมองว่าการออกระเบียบแนวทางปฏิบัติมันสามารถยืดหยุ่นได้ เพราะเราต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น ในคดียาเสพติดจากเดิมที่มีการลงโทษที่เข้มข้นมากแต่พอในปี 2564 มีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ความเข้มข้นในส่วนของโทษก็ลดลง เราจึงต้องใช้ความยืดหยุ่นเพื่อให้สอดคล้องไปกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

นายสหการณ์ เผยต่อว่า สำหรับระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ตนยืนยันว่าขั้นตอนจะเริ่มต้นจากทางราชทัณฑ์เท่านั้น ผู้ต้องขังไม่มีสิทธิในการยื่นขอเข้าพิจารณาว่าจะเข้าเกณฑ์หรือไม่ เพราะคณะทำงานจะเป็นผู้พิจารณาเองทั้งหมด และการพิจารณาจะเกิดจากการดูภาพรวมทั้งหมดแล้ว อาทิ พฤติกรรมระหว่างการต้องโทษ ความเสี่ยงการกระทำความผิดซ้ำ ความพร้อมของสถานที่คุมขัง เป็นต้น และขั้นตอนการพิจารณาจะจบที่ชั้นของอธิบดีดีกรมราชทัณฑ์ ไม่ต้องเสนอเรื่องขึ้นไปยังปลัดกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้อำนาจของอธิบดีสามารถดำเนินการได้ จะไม่เหมือนกับการขอพระราชทานอภัยโทษ การขอลดวันต้องโทษ หรือการขอพักการลงโทษ ที่ต้องเสนอเรื่องไปยังชั้นกระทรวง

ทั้งนี้ ในบรรดาทั้งหมดทั้งมวล ตนพร้อมรับฟังความเห็นที่หลากหลายภายในสังคม แต่สิ่งสำคัญ คือ ตนอยากให้ข้อมูลกับสังคม และเรียนรู้ไปด้วยกันว่าระเบียบนี้ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องแล้ว แต่การประกาศใช้นั้นมีความล่าช้าไปกว่ากรอบกฎหมายที่ได้กำหนดไว้จากกฎหมายหลัก คือ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งจริงๆระเบียบคุมขังนอกเรือนจำนี้จะต้องเเล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2561 แต่ที่ผ่านมาอาจติดขัดในหลายประการ อีกทั้งกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรี คุณทักษิณ ชินวัตร จะไม่ได้เป็นข้อจำกัดให้กรมราชทัณฑ์จะต้องหยุดดำเนินการออกระเบียบหรือออกระเบียบบังคับใช้แต่อย่างใด เป็นเรื่องที่กรมราชทัณฑ์จะต้องดำเนินการอยู่แล้ว และตนไม่มีใครมาคอยสั่งการ พร้อมปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ควบคู่ไปกับการบริหารโทษที่เป็นหลักตามสากล เราคำนึงถึงผู้ต้องขังทุกรายที่ควรได้รับสิทธิ์ในการคุมขังนอกเรือนจำ.