เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า  ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีรางนำไฟฟ้า (Conductor rail) ที่เป็นรางจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับรถไฟฟ้าสายสีชมพูหลุดร่วงจากทางวิ่งลงชั้นพื้นถนน (ไม่ใช่รางรถไฟฟ้าที่รองรับล้อเหล็ก) และเกี่ยวสายไฟฟ้าบริเวณหน้าตลาดชลประทานได้รับความเสียหาย ซึ่งกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เริ่มต้นจากขบวนรถตรวจสอบความพร้อมเส้นทางก่อนเปิดให้บริการ (หมายเลข PM40) กำลังเคลื่อนที่เพื่อตรวจสอบเส้นทางเดินรถไฟฟ้าก่อนเวลาเปิดให้บริการ ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างสถานีสนามบินน้ำ (PK03) กับสถานีแคราย (PK02) ฝั่งมุ่งหน้าไปศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) เกิดรางนำไฟฟ้าที่อยู่ด้านข้างคานทางวิ่ง (Guide Beam) ฝั่งด้านนอกหลุดร่วง ทำให้รถไฟฟ้าเกิดการเบรกฉุกเฉิน

ดังนั้นจึงได้ทำการตัดกระแสไฟรางนำไฟฟ้าระหว่างสถานีแยกปากเกร็ด (PK06) ถึงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) โดยศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟฟ้าได้แจ้งให้ทุกสถานีรับทราบแผนการเดินรถสำรอง พร้อมกับเร่งดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งการตัดไฟ การจัดการจราจร การตั้งเสาไฟฟ้า และสายไฟบริเวณดังกล่าว รวมทั้งประสานเจ้าหน้าที่เพื่อนำรถยนต์ที่เสียหายออกจากพื้นที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นจะทำการถอดรางจ่ายไฟที่ร่วงลงมาวางบริเวณพื้นถนน เพื่อดำเนินการซ่อมแซมต่อไป

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นพบว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ คาดว่าเป็นผลจากการดึงเหล็กเข็มพืดสำเร็จรูป (sheet pile) ของโครงการระบบสาธารณูปโภคบริเวณใกล้เคียงออกตามขั้นตอนก่อสร้างเมื่องานแล้วเสร็จ ทำให้ระดับของรางนำไฟฟ้าไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ส่งผลให้เมื่อมีตัวรับกระแสไฟฟ้าที่ติดกับตัวรถไปกระแทก เกิดการขยับตัวราง และมีชิ้นส่วนที่หลุดติดกับล้อตัวขบวนรถไป ทำให้ไปเกี่ยวรางนำไฟฟ้า ขยับออกแล้วร่วงลงมาด้านล่าง ทำให้ลากรางจ่ายกระแสไฟฟ้าหลุดออกทั้งแนว ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้มีรถยนต์ที่จอดใต้สถานีจำนวน 3 คัน ได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด และมีเสาไฟฟ้าล้ม กับโคมไฟใต้ทางรถไฟฟ้าเสียหาย โดย NBM จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ได้หารือร่วมกันระหว่าง ขร., การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานโครงการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้เร่งตรวจสอบหาสาเหตุทันที เบื้องต้นได้สั่งการให้ NBM ตรวจสอบรางนำไฟฟ้าสายสีชมพูตลอดเส้นทาง รวมทั้งให้บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการ รถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว–สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. จำนวน 23 สถานีตรวจสอบรางนำไฟฟ้าด้วย.