เป็นอีกหนึ่งข่าวเศร้าของวงการเพลงลูกกรุงของไทย ภายหลังจากที่แฟนเพจ “ดาราภาพยนตร์” ได้แจ้งข่าว “ปิดตำนาน อดีตดาวประดับวงดนตรีสุนทราภรณ์ จันทนา โอบายวาทย์ (ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา) ศิลปินวงดนตรีกรมโฆษณาการ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ วงดนตรีสุนทราภรณ์ เจ้าของเพลง กลิ่นดอกไม้ เสียชีวิตอย่างสงบ สิริอายุ 93 ปี”

วงการเพลงลูกกรุงเศร้าอีกครั้งกับการจากไปของศิลปินเพลงลูกกรุงรุ่นใหญ่ จันทนา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา หรือ จันทนา โอบายวาทย์ นักร้องหญิงเพลงไทย-สากล ยุคบุกเบิกของวงกรมโฆษณาการ หรือ วงดนตรีสุนทราภรณ์ เจ้าของน้ำเสียงสดใสกังวาน คุณจันทนาถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 สิริอายุ 93 ปี

สำหรับงานพิธีสวดพระอภิธรรม วันที่ 27 ธันวาคม 2566 เวลา 17.00 น.
พิธีรดน้ำศพ ที่ศาลา 9 วัดธาตุทอง หลังจากนั้นมีสวดพระอภิธรรมทุกคืน
พิธีฌาปนกิจ วันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม 17.00 น. ประชุมเพลิง ณ เมรุวัดธาตุทอง

เส้นทางการเป็นนักร้องของเธอเริ่มต้นจากการที่ทั้งพ่อและลุงของเธอต่างเป็นนักดนตรี โดยคุณพ่อเป็นผู้ควบคุมวงดนตรีของกองทัพเรือ ส่วนลุงอยู่ประจำวงดนตรีของกรมตำรวจ ครั้งยังเด็กจึงทำให้ได้มีโอกาสติดตามไปดูการบรรเลงกับคุณพ่อ ทำให้ได้รับการปลูกฝังและเกิดความรักในเสียงเพลง แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนทางด้านนี้ เพราะติดในเรื่องของการเรียนหนังสือ

เมื่อโตขึ้นประกอบกับเป็นช่วงที่จบการศึกษาจากโรงเรียนศิลปากร ก็ไปศึกษาต่อทางด้านภาษาที่สถานสอนภาษา AUA เรียนอยู่ได้ปีกว่า ในตอนนั้นทางกรมโฆษณาการขาดนักร้องผู้หญิง เนื่องจากสุปาณี พุกสมบุญ ได้ลาออกจากกรมโฆษณาการ ทางครูเอื้อ สุนทรสนาน จึงให้ พนิดา สุนทรสนาน (หลานครูเอื้อ) มาตามจันทนา ไปร่วมวงด้วย เพราะครูเอื้อทราบดีว่าช่วงที่จันทนาเรียนที่โรงเรียนศิลปากร มีการฝึกขับร้องเพลงอยู่ประจำ จึงไม่ต้องฝึกสามารถขับร้องกับวงได้เลย และทางคุณพ่อเองก็อนุญาต ตัวของจันทนาเองยังมีฐานะเป็นญาติคนหนึ่งของ ครูเอื้อ อีกด้วย

ปีพ.ศ. 2491 จันทนาได้เข้าเป็นนักร้องวงกรมโฆษณาการไล่เลี่ยกับ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี และ จุรี โอศิริ ระหว่างที่ร้องเพลงอยู่ในวงกรมโฆษณาการ จะสนิทกับนักร้องรุ่นพี่อย่าง มัณฑนา โมรากุล เพราะเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่คอยสอนให้คำชี้แนะต่าง ๆ ซึ่งนับถือเป็นเหมือนพี่สาวแท้ ๆ และมักจะไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ

ชีวิตส่วนตัว จันทนา สมรสกับ ทักษ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2495 มีบุตรธิดา 2 คน เมื่อสมรสไปแล้วก็ได้ลาออกจากงานร้องเพลงโดยเด็ดขาด และรับเชิญมาร้องเพลงเฉพาะในโอกาสสำคัญๆ เช่น ในวาระครบรอบวันเกิดของวงดนตรีสุนทราภรณ์ ตั้งแต่ 20, 25, 30, 45, 50 และ 60 ปี เป็นต้น หลังจากที่สามีเสียชีวิตจันทนาก็พำนักอยู่ ณ บ้านถนนสุขุมวิท ซอย 39 และปัจจุบันก็ยังรับเชิญไปร้องเพลงบ้างในบางโอกาส

โดยคุณอติพร สุนทรสนาน เสนะวงศ์ ทายาทครูเอื้อได้เขียนถึง คุณจันทนา โอบายวาทย์ ในหนังสือสูจิบัตรงานคอนเสิร์ต ดาวเด่นฟ้าจันทนา โอบายวาทย์ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2556ไว้ว่า “คุณจันทนา โอบายวาทย์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา เป็นนักร้องรุ่นแรกหรือที่เรียกว่ารุ่นก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ ทั้งยังมีศักดิ์เป็นหลานของคุณพ่อ ดิฉันจึงมีความสนิทสนมด้วยเป็นการส่วนตัว ในสมัยก่อน อาจัน เคยเล่าว่า เวลาไปเที่ยวต่างจังหวัดจะได้นอนหน้าเตียงของคุณพ่อ-คุณแม่เป็นประจำ อาจันโชคดีที่ได้แต่งงานกับ พลตำรวจตรีทักษ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ซึ่งนอกจาก อาทักษ์ จะเป็นผู้ที่มาจากชาติตระกูลดี มีความรู้มีฐานะแล้ว ยังถือว่าท่านเป็นผู้ชายที่มีความเป็นสุภาพบุรุษและรักอาจันอย่างเสมอต้นเสมอปลายตลอดชั่วชีวิตของท่าน

และจะมีใครสักกี่คนที่ทราบว่าอาทักษ์เป็นผู้ที่เขียนแบบตราวงดนตรีสุนทราภรณ์ ที่เป็นรูปท่าน ท้าวปัญจสิขร ให้กับคุณพ่อ ท่านมีความผูกพันกับสุนทราภรณ์ตั้งแต่ยังเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งได้แต่งงานกับดาวเด่นฟ้าของ สุนทราภรณ์ เมื่ออาจันได้แต่งงานไปกับผู้ชายที่เพียบพร้อม จึงห่างเหินไปจากวงการสุนทราภรณ์ นับตั้งแต่บัดนั้น แต่ก็ยังกลับมาร่วมงานในวาระสำคัญๆ อาทิ งานฉลองครบรอบการก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ตลอดมาทุกปีจนถึงทุกวันนี้”

จันทนา โอบายวาทย์ หรือ จันทนา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 สิริอายุ 93 ปี
ทั้งนี้แม้จันทนา จะเข้ามาอยู่กับวงสุนทราภรณ์ระยะเวลาไม่นานนัก แต่มีผลงานบันทึกเสียงทั้งเพลงเดี่ยว เพลงคู่ เพลงหมู่ เพลงปลุกใจ และเพลงรำวงมากมาย อาทิ กลิ่นดอกไม้, เกาะในฝัน, เกาะสวรรค์, คลั่งแซมบ้า, คลื่นกระทบฝั่ง, คู่เสน่หา (ร้องคู่ ครูเอื้อ สุนทรสนาน), โคมสวรรค์, ใจหนอใจ, ฉันอยากจะลอง, ฉันไม่ลอง (ร้องคู่ ชวลี), ดาวเด่นฟ้า, เธอกับฉัน, ผู้ชายนี่ร้ายนัก (ร้องคู่ ชวลี), มาลีมีขาย, มารักกันเถอะ (ร้องนำหมู่กับ ชวลี), รักมันจั๊กกะจี้, รักไม่ลง, ไร่นามาลีสตรี, ลาขอลา (คู่สุปาณี ชวลี เพ็ญศรี) ร้องสด, ลอยลำสำราญ (ร้องประสานครูเอื้อ, มัณฑนา), สงครามเพศ (ร้องคู่มัณฑนา โมรากุล), สุดเหวี่ยง, เส่เหลเมา, หาดแสนสุข (ต้นฉบับสุปาณี) ขับร้องสด, หนูเล็ก, เหมันต์สวิง, อกฉัน, อำนาจตาเธอ, รำวงเลือกคู่ (นำหมู่คู่กับ วินัย), รำวงอรทัย (นำหมู่คู่กับ วินัย, ครูเอื้อ), รำวงปิดทองพระ (นำหมู่คู่กับ วินัย, ครูเอื้อ), รำวงไทย (ร้องนำหมู่กับ วินัย, ครูเอื้อ), รำวงพระปฐมเจดีย์ (ร้องนำหมู่กับ ครูเอื้อ), รำวงชาวทะเล (ร้องนำหมู่กับ วินัย, ครูเอื้อ, ชวลี), รำวงรำเถิดโหวย (ร้องนำหมู่กับวินัย), รำวงตบแผละ (ร้องนำหมู่กับ วินัย, ครูเอื้อ), รำวงหญิงไทยใจงามดวงจันทร์ขวัญฟ้า (นำหมู่กับ วินัย), รำวงข้าวใหม่ปลามัน (นำหมู่กับวินัย,ครูเอื้อ,เพ็ญศรี), รำวงลอยเรือ (นำหมู่กับวินัย, ครูเอื้อ, เพ็ญศรี), รำวงยามเย็น (ร้องประสาน), สวัสดีปีใหม่ (ร้องประสาน), รำวงลอยกระทง (ร้องประสาน), เริงสุข (ร้องประสาน), เกาะสวาท (ลูกคู่), วังน้ำวน (ลูกคู่), ถ้ารักกันลั่นเปรี้ยง (ลูกคู่) เป็นต้น..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @ดาราภาพยนตร์