อัลฟาเบ็ท อิงค์ (กูเกิล) เจ้าของผลิตภัณฑ์เบราว์เซอร์ชื่อดัง “กูเกิลโครม” (Google Chrome) ต้องตกเป็นจำเลยในคดีฟ้องร้อง ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การใช้งานในโหมด “ไม่ระบุตัวตน” (Incognito Mode) โดยฝ่ายโจทก์ชี้ว่า กูเกิล ทำให้ผู้ใช้งานเข้าใจผิดว่า เมื่อใช้โหมดนี้แล้ว จะไม่มีการเก็บข้อมูลออนไลน์ หรือประวัติการท่องเว็บของพวกเขา

แต่อีเมลภายในของ กูเกิล ที่ฝ่ายโจทก์นำเสนอต่อศาล แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้งานในโหมดไม่ระบุตัวตน กลับถูกติดตามพฤติกรรมจากแผนกค้นหาและโฆษณาของบริษัท เพื่อวัดปริมาณการเข้าชมเว็บและการขายโฆษณา

ต่อมาในระหว่างการฟ้องร้อง ผู้พิพากษาประจำเมืองโอคแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นเขตที่รับคำฟ้อง ก็ยืนยันว่าทนายความของ กูเกิล ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นเพื่อยุติการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งยื่นฟ้องในปี 2020 โดยอ้างว่ามีความเป็นไปได้ที่ “บุคคลจำนวนหลายล้านคน” จะได้รับผลกระทบ

กลุ่มผู้บริโภคซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ เรียกร้องเงินอย่างน้อย 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 174,505 บาท) ต่อผู้ใช้งาน 1 คน ที่อ้างว่าถูกติดตามข้อมูลการท่องเว็บโดยหน่วยงานวิเคราะห์ข้อมูลหรือบริหารโฆษณาของบริษัท แม้ว่าจะอยู่ในโหมดไม่ระบุตัวตนและไม่ได้ลงชื่อเข้าใช้ด้วยบัญชีของ กูเกิล ก็ตาม

การตกลงครั้งนี้ อาจทำให้ กูเกิล ต้องจ่ายเงินชดเชยไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 174,505 ล้านบาท) กระนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่า ตัวเลขจำนวนเงินที่จ่ายจริงอาจไม่ได้สูงขนาดนั้น และยังไม่มีการจ่ายเงินใด ๆ ในการตกลงเบื้องต้นของทั้งสองฝ่ายในครั้งนี้

ส่วนทาง กูเกิล และทีมทนายความของบริษัท ยังไม่มีแถลงการณ์ใด ๆ ต่อกรณีนี้ 

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES