สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ว่า ยูนุส วัย 83 ปี ได้รับการยกย่องจากการช่วยชาวบังกลาเทศหลายล้านคน ให้หลุดพ้นจากความยากจน ด้วยธนาคารไมโครไฟแนนซ์บุกเบิกของเขา แต่ขณะเดียวกัน ยูนุสก็ได้รับความเกลียดชังจากนายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินา ผู้นำบังกลาเทศ ที่กล่าวหาว่าเขา “สูบเลือดคนจน”

ยูนุส และเพื่อนร่วมงานของเขาอีก 3 คน จากบริษัท กรามีน เทเลคอม ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายแรงงาน เนื่องจากพวกเขาไม่ได้จัดตั้งกองทุนสวัสดิการคนงานในบริษัท ซึ่งศาลแรงงานในกรุงธากา ตัดสินว่าทั้งสี่คนมีความผิด และพิพากษาจำคุก 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม นายเคอร์ชิด อลัม ข่าน หัวหน้าอัยการ ระบุว่า ยูนุส และพรรคพวก ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และได้รับการประกันตัวทันที ระหว่างรอการอุทธรณ์ ขณะที่ชาวบังกลาเทศหลายสิบคน จัดการชุมนุมขนาดเล็กบริเวณนอกศาล เพื่อสนับสนุนยูนุส

อนึ่ง ยูนุส กำลังเผชิญข้อหาอื่น ๆ มากกว่า 100 กระทง จากการฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน และคำกล่าวหาเกี่ยวกับการรับสินบน ซึ่งเขาเคยกล่าวกับผู้สื่อข่าว หลังการพิจารณาคดีครั้งหนึ่งเมื่อเดือนที่แล้วว่า เขาไม่ได้รับผลกำไรใด ๆ จากบริษัทธุรกิจเพื่อสังคมมากกว่า 50 แห่ง ที่เขาจัดตั้งในบังกลาเทศ

ด้านนายคาจา ทันวีร์ หนึ่งในทนายความของยูนุส กล่าวว่า คดีนี้ไร้ประโยชน์, เป็นเท็จ และมีแรงจูงใจที่มุ่งร้าย ซึ่งเป้าหมายเดียวคือ การคุกคาม และทำให้ยูนุสอับอายต่อหน้าชาวโลก

ขณะที่ นางไอรีน ข่าน อดีตหัวหน้าองค์การนิรโทษกรรมสากล “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า การตัดสินของศาลแรงงานบังกลาเทศ เป็น “การล้อเลียนความยุติธรรม”

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ กล่าวหาว่า รัฐบาลธากา “ใช้กฎหมายแรงงานเป็นอาวุธ” เมื่อยูนุสขึ้นศาลในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา พร้อมกับเรียกร้องให้ยุติ “การคุกคาม” ในทันที อีกทั้งการดำเนินคดีอาญากับยูนุส ยังถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการตอบโต้ทางการเมือง ต่องานและความเห็นต่างของเขาด้วย.

เครดิตภาพ : AFP