เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ภาค กทม. โพสต์คลิปวิดีโอในเฟซบุ๊กส่วนตัว “เอ้ สุชัชวีร์” ถึง 3 ข้อวิธีแก้ขนพิษ PM 2.5 กรุงเทพฯ ต้องแก้ไขอย่างไร โดยในเนื้อหาคลิป ระบุถึงแนวทางในการแก้ปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืนว่า 

เมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงปักกิ่ง กรุงลอนดอน กรุงโซล มหานคร Los Angeles เคยเจอหนักกว่าเรา แต่แก้ไขได้หมดแล้วดังนั้น จึงถึงเวลาแล้ว ที่ กรุงเทพมหานครจะต้องแก้ไข โดยขอสรุปถึงวิธีการแก้ไขใน 3 ข้อ เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ได้อย่างยั่งยืน เหมือนกับเมืองอื่นๆ ที่ทำมาแล้ว คือ

1. การใช้กฎหมาย โดยกฎหมายต้องมองไปถึงอนาคต ไม่ใช่มองย้อนกลับไปในอดีต อย่างเช่น กฎหมาย พ.ร.บ.อากาศสะอาดที่ทันสมัยที่จะรองรับอนาคต ควรเป็นกฎหมายที่ไม่ใช่ให้โทษอย่างเดียว แต่ต้องเป็นกฎหมายที่ให้คุณด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากท่านช่วยรักษาโลก ช่วยในการควบคุม PM 2.5 หรืออาคารก่อสร้าง มีการปกปิดมีการแรพตึก และนำเอาค่าใช้จ่ายในการป้องกันฝุ่นมาลดหย่อนภาษีได้ หรือมีกิจกรรมปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ไว้ นำเอามาลดภาษีได้

ดังนั้น พ.ร.บ.อากาศสะอาด ต้องเป็น พ.ร.บ ที่มีทั้งบทลงโทษและมีการให้ประโยชน์แก่คนทำความดี อีกทั้งต้องมีความมุ่งมั่น มีเป้าหมายในการลดฝุ่น PM 2.5 และปัจจุบันเราต้องยอมรับว่า ประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักเทคโนโลยี ในการคิดค้นนวัตกรรมแก้ปัญหาฝุ่นน้อยมาก ดังนั้นกฎหมายอากาศสะอาดต้องสนับสนุน ในการพัฒนา ส่งคนไปเรียนแล้วกลับมาต่อยอดในการสร้างเทคโนโลยีนวัตกรรมในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการด้วย

2. การใช้เทคโนโลยี เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะทุกเมืองที่ประสบความสำเร็จก็ใช้เทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยสามารถส่งดาวเทียมธีออส-2 ขึ้นไปแล้ว และดาวเทียมดวงนี้จะสามารถมองเห็นพื้นที่ประเทศไทยได้แบบ 50 ซม. ก็จะสามารถทำให้รู้ว่าตรงจุดไหนมีการจุดไฟหรือปล่อยควันที่สร้างฝุ่น PM 2.5 นอกจากนี้ ดาวเทียมธีออส-2 ยังสามารถรายงานฝุ่นในระยะแคบกับระยะกว้างได้อย่างแม่นยำ และสามารถเตือนเข้าไปในโทรศัพท์มือถือของคนในพื้นที่นั้นได้ เหมือนกับที่เกาหลีทำอยู่ เทคโนโลยีแบบนี้แนะนำว่าควรนำมาใช้ 


นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวิจัย ระบุว่าในกรุงเทพฯ การติดตั้งจุดวัดฝุ่นน้อย เพราะพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีประมาณ 1,600 ตร.ม. ควรมีจุดติดตั้งวัดฝุ่นไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 จุด แล้วในขณะเดียวกันเราควรสร้างเครื่องวัดฝุ่นได้เอง และรายงานเข้าโทรศัพท์มือถือ หรือ รายงานเข้าไปอยู่ใน Billboard เพราะป้ายในกรุงเทพฯ ป้ายอิเล็กทรอนิกส์ ป้าย LED มีเต็มไปหมดจะได้ช่วยเตือน ซึ่งตรงจุดนี้เทคโนโลยีช่วยได้ 


ต่อมาคือเรื่องของการใช้รถไฟฟ้า เชื่อว่าจะช่วยได้อย่างแน่นอน เพราะจะทำให้รถที่เคยปล่อยมลพิษไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟ หรือรถบรรทุกขนาดใหญ่ ปัจจุบันเป็นพลังงานไฟฟ้าหมดแล้ว นี่แหละคือตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยี ในการตรวจวัด และแก้ปัญหาและเตือนภัยให้ทุกคนป้องกันตัวเอง และคนที่เรารักได้ 

3. การปรับโครงสร้างของเมือง ยกตัวอย่างเช่นที่กรุงลอนดอน หากขับรถเข้ามาในใจกลางกรุงลอนดอนจะมีการเรียกเก็บเงิน ซึ่งในกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 16 เขตชั้นใน เขตเหล่านี้ เป็นเขตที่มีโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นร้อยแห่ง และยังเป็นจุดที่มีทั้งชุมชนอยู่อาศัยหนาแน่น รถสิบล้อหรือรถที่ปล่อยมลพิษจึงไม่ควรจะเข้ามายังพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ควรมีการจำกัดห้ามรถบรรทุกเข้าในเขตชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล และควรกำหนดเขตพื้นที่ชั้นใน 16 เขต เป็นเขตมลพิษต่ำและในอนาคตตั้งเป้าจะเป็นเขตปลอดมลพิษ เพราะเป็นเขตที่มีคนอาศัยอยู่เยอะ และเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

ส่วนรอบๆ เมือง ปัจจุบันพบว่าชุมชนกับโรงงานอยู่ติดกันแล้ว การปรับผังเมืองใหม่ให้เป็นผังเมืองควบคุมมลพิษ โรงงานจึงควรจะอยู่ในนิคม และถ้าหากย้ายเข้าไปอยู่ได้ ควรมีมาตรการลดหย่อนภาษี กู้ดอกเบี้ยต่ำให้ และโครงสร้างเครือข่ายรถไฟฟ้า หากมีเครือข่ายมากขึ้นขยายไปจนถึงชานเมือง ก็จะช่วยให้คนตัดสินใจลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น.