เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่ ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ต้องเร่งตัดอ้อยส่งขายโรงงานเป็นการเร่งด่วน แม้ว่าบางรายจะยังไม่มีแรงงานเข้ามาช่วยตัด เพราะตอนนี้แรงงานค่อนข้างหายากและติดคิวจองกันเป็นส่วนใหญ่ บางคนต้องอาศัยแรงงานภายในครอบครัวเพียงไม่กี่คนมาทยอยตัดรายวันได้มากน้อยตามสภาพ เพื่อพอให้ได้ผลผลิตส่งขายเอาทุนคืน ก่อนถูกช้างป่าเข้ามาทำลาย เนื่องจากช่วงนี้ช้างป่าจากอุทยานแห่งชาติทับลานกว่า 70 ตัว ออกมาหากินต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา และยังคงวนเวียนอยู่ในพื้นที่ไม่ยอมกลับเข้าป่าสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรกรเป็นอย่างมาก

น.ส.ออระยา เหลืองกระโทก กำนันตำบลจระเข้หิน กล่าวว่า ช้างป่าจากอุทยานแห่งชาติทับลาน ออกจากป่ามาหากินผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านมาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้ก็ไม่ยอมกลับเข้าป่า ไปหลบอาศัยอยู่ภายในป่าชุมชนเขาประดู่ ที่อยู่คั่นกลางระหว่างป่าอุทยานและที่ทำกินของชาวบ้าน เท่าที่เห็นนับได้ก็ประมาณ 70 ตัวขึ้นไป แม้ว่าจะมีการระดมกำลังเฝ้าระวังและผลักดันกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เป็นผล

ปัจจุบันนี้ช้างป่ายังคงสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่อำเภอครบุรีรายวัน หากคิดความเสียหายจากช้างป่า 70 ตัว จะกินอ้อยวันละประมาณ 7–8 ตัน ผลผลิตอ้อยต่อไร่จะอยู่ที่ 12–15 ตัน ส่วนราคาอ้อยตอนนี้จะอยู่ที่ประมาณ 1,400 บาทต่อตัน ดังนั้นหากช้างป่า 70 ตัวบุกทำลายผลผลิตเป็นอ้อยทุกวันจะมีมูลค่าการสูญเสียมากกว่า 120,000 บาทต่อคืนเลยทีเดียว และแม้ว่าตอนนี้ช้างจะไม่ได้บุกเข้าไปกินอ้อยทุกวัน แต่วันอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าแปลงอ้อยก็ไปแปลงพืชเกษตรอื่นอย่างมันสำปะหลัง ซึ่งก็สร้างความเสียหายไม่แพ้กัน

นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ระบุว่า ช้างป่าโขลงใหญ่โขลงนี้มีไม่น้อยกว่า 70 ตัว ออกจากอุทยานแห่งชาติทับลานมาพักอาศัยอยู่ในเขตป่าชุมชนเขาประดู่ ซึ่งอยู่ระหว่างตำบลบ้านใหม่และตำบลจระเข้หิน สร้างความยากลำบากให้กับเจ้าหน้าที่ในการผลักดันช้างให้กลับเข้าสู่เขตอุทยานอย่างมาก เพราะต้องวางแผนไม่ให้การผลักดันทำให้เกิดความเสียหายกับพื้นที่ชาวบ้าน หรือให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เพราะพื้นที่โดยรอบป่าเขาประดู่นั้น จะมีทั้งแหล่งชุมชนและพื้นที่การเกษตรอยู่ล้อมรอบ

อีกทั้งช้างก็มีการรวมโขลงกันอย่างหนาแน่น และมีลูกช้างจำนวนมากจึงทำให้การกดดันช้างให้เคลื่อนที่นั้นทำได้ลำบาก ดังนั้นตอนนี้คงทำได้แค่เฝ้าระวังไม่ให้ช้างป่าโขลงนี้ออกไปรบกวนชาวบ้านไปก่อน เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะได้ทำการระดมกำลังมาทำการผลักดันช้างทั้งหมดนี้กลับเข้าสู่ป่าอุทยานฯต่อไป