เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่สภ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ต.ตรีวิทย์ ศรีประภา ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่สอบปากคำพยานคดีสำคัญ ตัดไม้พะยูงที่ราชพัสดุขายราคาต่ำผิดธรรมชาติ ซึ่งเป็นการสอบปากคำทั้งพยานคนเดิมเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม และพยานรายใหม่ที่เพิ่งเข้ามาแสดงตัวตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน โดยมี พ.ต.อ.โสณกุญช์ ทรัพย์สมบัติ ผกก.สภ.ห้วยเม็ก พ.ต.ท.สมภาร แสนคำ รอง ผกก.(สอบสวน) พ.ต.ท.วสุวัฒน์ หลานวงษ์ พนักงานสอบสวน ร่วมสอบปากคำและบันทึกข้อมูล

พล.ต.ต.ตรีวิทย์ กล่าวว่า หลังจากพนักงานสอบสวน สภ.ห้วยเม็ก รับสำนวนการสืบสวนข้อเท็จจริง จากคณะกรรมการตรวจสอบฯ อำเภอห้วยเม็ก กรณีตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุ ในโรงเรียนหนองโนวิทยาคม 9 ต้น มูลค่าการซื้อขายตามใบเสร็จรับเงินของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 จำนวน 104,000 บาท และโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ 3 ต้น มูลค่าการซื้อขายตามใบเสร็จฯ จำนวน 30,000 บาท ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงระบุว่า ราคาต่ำกว่าท้องตลาดกว่า 30-50 เท่าตัว โดยพนักงานสอบสวน สภ.ห้วยเม็ก ได้รับเป็นคดีเมื่อวันที่ 28 ม.ค.67 จึงได้เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาสอบปากคำรวมแล้ว 10 ปาก ซึ่งพยานทุกปากให้การที่เป็นประโยชน์ต่อคดี สามารถที่จะชี้ตัวข้าราชการทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ถึง 7 คน ซึ่งใกล้สรุปสำนวนแล้ว เตรียมที่จะกระชากหน้ากากขบวนการมอดไม้กินเงินหัวคิวค่าขายไม้พะยูงเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม จากการสอบสวนทราบว่า พ่อค้ารับซื้อไม้พะยูงที่โรงเรียนหนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก จำนวน 9 ต้น จากคำให้การพ่อค้ารับซื้อไม้ระบุว่า มีนายทุนโอนเงินเข้ามาให้พ่อค้ารายดังกล่าว เพื่อเป็นค่าบริหารจัดการและซื้อไม้พะยูง ในราคา 700,000 บาท แต่หลักฐานที่พบในใบเสร็จรับเงิน ระบุตัวเลขเพียง 104,000 บาทเท่านั้น ขณะที่พ่อค้าอีกรายที่ซื้อไม้พะยูงที่โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ให้การว่าได้ชำระเงิน 450,000 บาท เพื่อซื้อไม้พะยูงจำนวน 3 ต้น แต่ลงราคาในใบเสร็จรับเงินเพียง 30,000 บาทเท่านั้น ซึ่งจะเห็นว่าทั้ง 2 โรงเรียนเงินส่วนต่างหายไปเป็นจำนวนมาก โดยทั้ง 2 แห่งรวมเงินซื้อไม้พะยูง 1,190,000 บาท แต่ลงบิลแค่ 130,000 บาท ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า เกิดความทุจริตและไม่โปร่งใส เบียดบังเงินหลวง แสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบในการขายไม้พะยูง ทำให้ภาครัฐเกิดความเสียหาย ซึ่งจะได้ทำการสืบสวนหาที่ไปที่มาของเงินจำนวนที่หายไปว่าไปตกแก่ใคร ยังไงต่อไป

สำหรับกรณีตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุที่เกิดขึ้นใน จ.กาฬสินธุ์ นั้น จากการเปิดเผยของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยประสานข้อมูลกับฝ่ายความมั่นคง ระบุว่าเกิดขึ้นในโรงเรียนและที่ราชพัสดุหลายแห่ง ทางจังหวัดทราบเรื่องตั้งแต่ต้น โดยมีการรายงานในที่ประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า จ.กาฬสินธุ์ ได้ทราบโดยทั่วกัน

โดยเหตุเริ่มเมื่อวันที่ 25 ก.ค.66 คนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูงที่สถานีเพาะชำกล้าไม้กาฬสินธุ์ ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ 1 ต้น ต่อมาเจ้าหน้าที่สถานีเพาะชำกล้าไม้ฯ เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.โนนสูง จากนั้นพนักงานสอบสวนร่วมกับผู้นำชุมชน ทำการตรวจยึดไม้ของกลางที่เหลือ โดยตัดทอนเป็นท่อนจำนวน 7 ท่อน มาเก็บไว้หน้าเสาธง สำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ก่อนที่ไม้พะยูงของกลางจะหายไปในคืนวันที่ 5 ส.ค.66 จากนั้นเจ้าหน้าที่ประจำสถานีเพาะชำกล้าไม้ฯ ได้เข้าแจ้งความที่ สภ.โนนสูงเป็นครั้งที่ 2 และมีการดำเนินการติดตามสืบสวนสอบสวนผู้เกี่ยวข้อง กระทั่งพนักงานสอบสวน สภ.โนนสูง สรุปสำนวนคดีสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ ระบุมีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายก ทต.อิตื้อ, คนขับรถนายก ทต.อิตื้อ, เจ้าหน้าที่ป่าไม้ 3 คน กำนันและผู้ใหญ่บ้าน 3 คน รวม 8 คน

ในช่วงติดตามผู้กระทำความผิด มีส่วนเกี่ยวข้องกับไม้พะยูงของกลางหาย ทาง จ.กาฬสินธุ์ โดยนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ (ขณะนั้น) ได้อ้างคำสั่งกรมธนารักษ์ ซึ่งได้มีหนังสือเวียนที่ กค 0305/ว20 ลงวันที่ 1 ก.พ. 60 เรื่องการตัดไม้ในที่ราชพัสดุ โดยให้ผู้ใช้ที่ราชพัสดุสามารถดำเนินการได้เท่าที่จำเป็น เช่น (1) กีดขวางการใช้พื้นที่เพื่อปลูกสร้างอาคาร (2) กีดขวางสายไฟฟ้า (3) ต้นไม้อาจโค่นล้มเป็นอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินฯ

ซึ่งกรมธนารักษ์ยังได้มีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจ กรณีการตัดต้นไม้ในที่ราชพัสดุให้สอดคล้องกับนโยบายของทางราชการ ที่ให้ทุกหน่วยงานมีการอนุรักษ์ต้นไม้และป่าไม้ในเขตพื้นที่ราชพัสดุ โดยให้หลีกเลี่ยงการตัดต้นไม้ใหญ่ ยกเว้นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยให้ผู้ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดอีกด้วย ขณะที่ ทาง จ.กาฬสินธุ์ ได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษ ตรวจสอบการตัดไม้พะยูงขึ้นมา 1 ชุด เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบและติดตามข้อเท็จจริงในเรื่องที่เกิดขึ้น

ต่อมา วันที่ 17 ส.ค.66 ได้มีการแจ้งเหตุผ่าน กอ.รมน.จ.กาฬสินธุ์ มีการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 17 ต้น ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยชุดปฏิบัติการพิเศษ ตรวจสอบการตัดไม้พะยูง จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.66 โดยพบเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ระบุมีหนังสือโต้ตอบระหว่างโรงเรียนฯ-สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เรื่องขออนุญาตตัดและให้อนุญาตตัดไม้พะยูงจำหน่าย จำนวน 22 ต้น กับอีก 2 ตอ จำนวนเงิน 153,000 บาท จากการตรวจสอบตัดไปแล้ว 17 ต้น เหลืออีก 5 ต้นกับอีก 2 ตอ และจากการประเมินราคาของเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ พบว่าราคาที่คณะกรรมการประเมินขาย ต่ำกว่าราคาตลาด 30-56 เท่าตัว

นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านแจ้งเบาะแสการตัดไม้พะยูงมาที่ กอ.รมน.จ.กาฬสินธุ์ อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยตัดไม้พะยูงในโรงเรียนหนองโนวิทยาคม ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษฯ ยังพบว่ามีพฤติการณ์ลักษณะเดียวกัน บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหมือนกันกับกรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยา โดยเหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เม.ย.66 ไม้พะยูงถูกตัดขาย 9 ต้น ราคา 104,000 บาท นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งเหตุ ตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 3 ต้น ราคา 30,000 บาท

ในช่วงเดือน ก.ย.66 ยังมีการแจ้งเบาะแสการตัดไม้พะยูง รวมทั้งเหตุลักลอบตัดไม้พะยูงในโรงเรียน และในที่ราชพัสดุอีกหลายครั้ง เช่น ลักลอบตัดที่ โรงเรียนห้วยเม็กวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก 1 ต้น, ขออนุญาตตัดที่โรงเรียนบ้านหนองกุงไทย อ.ห้วยเม็ก 9 ต้น, ที่โรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว อ.ยางตลาด 6 ต้น, ลักลอบตัดที่สถานีวัฒนวิจัย อ.ยางตลาด 1 ต้น, ลักลอบตัดที่โรงเรียนชุมชนดอนยูงวิทยา อ.ยางตลาด 1 ต้น, ลักลอบตัดที่สวนสาธารณะหนองทึง อ.ยางตลาด 2 ต้น, ลักลอบตัดที่โรงเรียนโนนศิลาสว่างวิทย์ อ.ฆ้องชัย 1 ต้น, ลักลอบตัดที่ โรงเรียนบ้านสร้างแก้ว อ.สมเด็จ 1 ต้น, ขออนุญาตตัดที่โรงเรียนหมูม่นเม็กวิทยาสรรพ์ อ.สมเด็จ 9 ต้น และลักลอบตัดที่ โรงเรียนบ้านคำเชียงวัน อ.สหัสขันธ์ 1 ต้น รวมกับทั้งหมด 14 แห่ง จำนวน 62 ต้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ก.ย.66 จ.กาฬสินธุ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีอนุญาตตัดไม้ในที่ราชพัสดุ โดยมีนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วยนายวิทยา ปัญจมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายโรมรัก ภูหวล ป้องกัน จ.กาฬสินธุ์ นายสนุน แจะหอม นิติกรชำนาญการ กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายป่าไม้ มีกรอบการทำงานย้อนหลัง 5 ปี คือช่วงปี 2562-2566

นายวิทยา ปัญจมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีอนุญาตตัดไม้ในที่ราชพัสดุ เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ได้รับมอบหมาย โดยมีพื้นที่เป้าหมายตรวจสอบ 13 แห่ง ประกอบด้วย (1) โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี (2) โรงเรียนหนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก, (3) โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ อ.ห้วยเม็ก (4) โรงเรียนห้วยเม็กวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก (5) โรงเรียนบ้านหนองกุงไทย อ.ห้วยเม็ก (6)โรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว อ.ยางตลาด (7) โรงเรียนชุมชนดอนยูงวิทยา อ.ยางตลาด (8) สวนสาธารณะหนองทึง อ.ยางตลาด (9) โรงเรียนโนนศิลาสว่างวิทย์ อ.ฆ้องชัย (10) โรงเรียนบ้านสร้างแก้ว อ.สมเด็จ (11) โรงเรียนหมูม่นเม็กวิทยาสรรพ์ อ.สมเด็จ (12) โรงเรียนบ้านคำเชียงวัน อ.สหัสขันธ์ และ (13) ผู้ประกอบการรับซื้อไม้ อ.นามน

ในส่วนของการกำกับติดตามคดีตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุดังกล่าว โดยเบื้องต้นทาง จ.กาฬสินธุ์ แต่งตั้ง นายธวัชชัย รอดงาม ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นหัวหน้าชุดคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น นายธนภัทร ณ ระนอง รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นหัวหน้าชุด ขณะที่มีการรายงานเข้ามาว่า ดำเนินการตรวจสอบเพียงกรณีไม้พะยูงของกลางหายที่เทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด และสรุปผลออกมาแล้ว มีข้าราชการเกี่ยวข้อง 8 คน ส่วนกรณีตัดไม้พะยูงขายที่โรงเรียนหนองโนวิทยาและโรงเรียนคุรุชนประสิทธ์ศิลป์ อ.ห้วยเม็ก ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบฯ อ.ห้วยเม็ก เป็นเจ้าทุกข์แจ้งความแล้ว ซึ่งคดีมีความคืบหน้าไปมาก คาดมีข้าราชการเกี่ยวข้อง 7 คนดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี ทางอำเภอยังไม่เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ ขณะที่โรงเรียนอื่นๆ ที่มีเหตุในลักษณะเดียวกัน โดยมีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้องตั้งแต่การลักลอบตัด ขออนุญาตตัด ให้อนุญาตตัด ประเมินราคา หาคนมาซื้อ เช่น โรงเรียนหนองกุงไทย อ.ห้วยเม็ก 9 ต้น, โรงเรียนหมูม่นเม็กวิทยาสรรพ์ อ.สมเด็จ 9 ต้น และโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว อ.ยางตลาด 6 ต้น ยังไม่มีความคืบหน้าของการดำเนินการแต่อย่างใด ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงมีหลักฐานจัดเจน และรายงานมาที่ทางจังหวัดแล้วแต่เรื่องยังเงียบอยู่