เช่น ความชื้นและจุลชีพได้ดี จึงมีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย แต่เนื่องจากปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงเกิดการสะสมของขยะพลาสติกหลังการใช้งานปริมาณมหาศาล ยิ่งเมื่อพลาสติกแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ เรียกว่าไมโครพลาสติก จะยิ่งเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศ

นอกจากนี้วัตถุดิบหลักในการสังเคราะห์พอลิเมอร์ทั่วไป ได้มาจากแหล่งฟอสซิล เช่น นํ้ามันดิบ ดังนั้น “พอลิเมอร์” จึงจัดเป็นวัสดุที่ไม่ยั่งยืน ดังนั้นจึงเร่งพัฒนาวัสดุทางเลือก เช่น พลาสติกชีวภาพ ที่ผลิตได้จากแหล่งวัตถุดิบหมุนเวียน เช่น จากกระบวนการหมักแป้ง หรือนํ้าตาล ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด เป็นต้น เมื่อนำวัสดุประเภทนี้มาใช้งานแล้ว ยังสามารถสลายตัวได้ โดยจุลินทรีย์ ในเวลาประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปีเท่านั้น

รศ.ปกรณ์ โอภาประกาสิต สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) และศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิศวกรรมวัสดุสมบัติพิเศษขั้นสูง (CoE FAME) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ ทำงานวิจัยต่อเนื่องมากว่า 20 ปี ในการพัฒนากระบวนการผลิตพอลิเมอร์ชีวภาพหลากหลายชนิด เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพอลิเมอร์ชนิด “พอลิแลคไทด์” หรือ PLA และ “พอลิบิวทีลีนซัคซิเนต หรือ PBS และอนุพันธ์ นำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น ถุงห่อผลไม้ที่คัดเลือกช่วงแสงและการแพร่ผ่านของแก๊ส ทำให้ควบคุมการสุกของผลไม้และรสชาติได้อย่างดี ถุงบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะสำหรับยืดอายุผักและผลไม้สด บรรจุภัณฑ์ควบคุมการเจริญของเชื้อสำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เม็ดบีดขัดผิวที่ปลดปล่อยกลิ่นหอมได้ เม็ดบีดพอลิเมอร์ชีวภาพสะท้อนรังสียูวีสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพครีมกันแดด ซึ่งสามารถสลายตัวได้หลังการใช้งาน หรือการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เป็นวัสดุปิดแผลและนำส่งยาในร่างกาย เป็นต้น

รศ.ปกรณ์ คณะ ยังได้พัฒนากระบวนการรีไซเคิลทางเคมี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงในการตัดสายโซ่พลาสติกที่มีขนาดยาว ให้กลับไปเป็นสารตั้งต้นใหม่ เปรียบเทียบกับเทคโนโลยีการรีไซเคิลเชิงกลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือ การหลอมแล้วกลับมาขึ้นรูปใหม่ สามารถเปลี่ยนพลาสติกหลังการใช้งานทั้งชนิดที่สลายตัวได้และสลายตัวไม่ได้ กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าที่สลาย
ตัวได้ ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy)

ตัวอย่างเช่น การนำผลิตภัณฑ์พอลิเอทธิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) เช่น ขวดบรรจุนม และผลิตภัณฑ์พอลิสไตรีน เช่น กล่องโฟม หรือถ้วยกาแฟร้อน ที่สลายตัวไม่ได้ หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ชนิด PLA และ PBS เช่น ถ้วยกาแฟจาก 2 ร้านขนาดใหญ่ กลับมาตัดสายโซ่เป็นสารตั้งต้น แทนการปล่อยให้สลายตัวตามธรรมชาติ แล้วใช้ประโยชน์ใหม่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังมีคุณภาพคงเดิมหรือดีกว่าเดิม หรือมีมูลค่าสูงขึ้น โดยสามารถสลายตัวได้หลังการใช้งาน เช่น ใช้งานเป็นพอลิยูรีเทนฐานชีวภาพ โฟมกันกระแทก อนุภาคนาโนพอลิเมอร์ที่กักเก็บนํ้ามันหอมระเหย กาวชีวภาพคุณสมบัติพิเศษ วัสดุดูดซับนํ้ามันประสิทธิภาพสูงที่ใช้งานซํ้าได้ เส้นใยสำหรับไส้กรองแยกนํ้ามันที่ปนเปื้อนในนํ้า เป็นต้น

สำหรับองค์ความรู้และเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพที่พัฒนาขึ้นครั้งนี้ นำไปสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net zero society) และการพัฒนาอย่างยั่งยืน.