เมื่อวันที่ 14 ก.พ. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความระบุว่า บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ รัฐธรรมนูญมาตรา 234  (4) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอมาตรการความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้อำนาจดังกล่าวเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการดำเนินนโยบาย Digital Wallet รวม 8 ข้อ แต่ข้อเสนอที่เป็นไปตามหน้าที่และอำนาจ ป.ป.ช. เพื่อป้องกันการทุจริตหรือประพฤติมิชอบมีเพียงข้อ 1, 4, และ 5 เท่านั้น ส่วนข้อเสนอข้อ 3, 6, 7 และ 8 มีลักษณะเป็นการแทรกแซงการใช้ดุลพินิจในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 158

ส่วนข้อเสนอข้อ 2  เป็นเรื่องการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของคณะรัฐมนตรี อีกทั้งยังเป็นข้อเสนอแนะต่อ กกต. ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 221 ให้ ป.ป.ช. เสนอต่อ กกต. โดยตรง ส่วนคณะรัฐมนตรีไม่มีกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ต้องส่งข้อเสนอของ ป.ป.ช. ให้กับ กกต. ทราบแต่อย่างใด

ข้อเสนอแนะดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการปฏิบัติหรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายและยังมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ  เพราะในการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2562 เคยมีพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในขณะนั้น หาเสียงเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร และเงินเดือนขั้นต่ำของผู้ที่จบปริญญาตรีหรือจบต่ำกว่า ซึ่งคณะรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ ก็มิได้นำการหาเสียงของพรรคนั้นไปเป็นนโยบายดำเนินการตามที่ได้หาเสียงไว้ แต่ ป.ป.ช. ชุดเดียวกันนี้ก็มิได้ทักท้วงหรือแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรีหรือขอให้ กกต. ดำเนินการใดๆ

พฤติกรรมและการใช้อำนาจของ ป.ป.ช. ดังกล่าว เกิดจากผลพวงของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ถูกออกแบบให้เป็นรัฐราชการที่มิได้มาจากประชาชน ให้ ป.ป.ช.มีอำนาจควบคุม และแทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากประชาชนโดยตรง

ฉะนั้น การกระทำของ ป.ป.ช. ดังกล่าวจึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระฯ พ.ศ. 2561 ข้อ 13 และ ข้อ 15 ซึ่ง สส. หรือ สว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า (150 คน) อาจเข้าชื่อร้องต่อประธานรัฐสภาเพื่อเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาให้ตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระทำการไต่สวนและดำเนินคดีกับ ป.ป.ช. ได้ ตามมาตรา 236 และ 237 (2) และ (3)