เมื่อวันที่ 14 ก.พ. เวลา 16.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ลุกขึ้นอภิปรายญัตติด่วนเพื่อขอให้รัฐบาลทบทวนมาตรการถวายความปลอดภัยของขบวนเสด็จ ตอนหนึ่งว่า ตนฟังหลายท่านอภิปรายแล้ว มีความเห็นว่าจริงๆ แล้วเราก็มีความเห็นร่วมกันหลายอย่าง ประการแรกตนคิดว่าเราเห็นตรงกันว่าการรักษาความปลอดภัยให้กับบุคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ องค์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประมุของรัฐต่างประเทศ ผู้นำทางการเมืองหรือแม้แต่บุคคลสาธารณะเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหลักปฏิบัติสากล ประการที่สองตนคิดว่าเราเห็นตรงกันว่าขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ ในวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปอย่างเหมาะสมแล้ว อย่างน้อยในแง่ที่ว่าไม่ได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนเกินสมควร ประการที่สามเราต่างเห็นตรงกันว่าเราไม่อยากเห็นเหตุการณ์เหมือนวันที่ 4 ก.พ.เกิดขึ้นอีก

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า ตนดีใจที่ได้ฟังว่านายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ยอมรับว่าตัวเองรู้สึกโกรธในแวบแรกที่ได้ทราบเหตุการณ์ แต่หลังจากนั้นก็สามารถสงบสติอารมณ์ได้ ด้วยการนึกถึงพระราชดำรัสที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการประนีประนอม เมื่อสงบสติอารมณ์ได้ ไม่ใช้อารมณ์โกรธ ก็คิดหาหรือเสนอวิธีเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์บานปลายนำไปสู่การปะทะขัดแย้งทางการเมืองที่ใหญ่โตกว่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะบริหารจัดการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ให้บานปลายมากกว่านี้ได้อย่างไร เป็นประเด็นที่เราต้องถกเถียงกันให้รอบด้าน ตนยังยืนยันว่าเวลาเราพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการถวายความปลอดภัยที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์วันที่ 4 ก.พ. เราไม่สามารถที่จะพิจารณาเฉพาะเรื่องกฎหมาย ระเบียบ แผนในการถวายความปลอดภัยได้อย่างเดียวเท่านั้น

นายชัยธวัช กล่าวว่า ขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่กระทบต่อความปลอดภัยขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์อย่างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งก็ว่าได้ เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2520 เคยเกิดเหตุการณ์ลอบทำร้าย ในหลวง ร.9 และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ที่เสด็จไปด้วย ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินไปที่ จ.ยะลา รุนแรงกว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาสัปดาห์ก่อนหน้านี้หลายเท่า เกิดความปั่นป่วนในขบวนเสด็จ และเกิดการวางระเบิดใกล้ที่ประทับของพระองค์ นี่เป็นตัวอย่างว่าเหตุการณ์ในวันนั้นถ้าจะแก้การถวายความปลอดภัยในวันนั้นไม่สามารถที่จะพิจารณากฎหมายและแผนมาตรการในการถวายความปลอดภัยเท่านั้น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ามันไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนั้น เหตุการณ์เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยหลายครั้งกรณีจึงเกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางความคิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายชัยธวัช กล่าวว่า เสียดายเหตุการณ์ในครั้งนี้ก็ใช้วิธีทางการเมืองจัดการเหมือนกัน แต่ผิดทางไปหน่อย เพราะหลังจากนั้นเกิดกลุ่มฝ่ายขวาคือกลุ่มกระทิงแดงพยายามใช้กรณีการลอบปลงพระชนม์ที่เกิดขึ้นที่ จ.ยะลา ปลุกปั่น กล่าวหาโจมตีว่ารัฐบาลในขณะนั้นซึ่งเป็นรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกฯ ว่าไม่มีความจงรักภักดีเพียงพอและนำไปสู่การรัฐประหารหลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือน กว่าประเทศจะฟื้นฟูไปสู่ประชาธิปไตยได้ก็ใช้เวลาหลายปี  ย้อนกลับมาสู่กรณีที่เรากำลังอภิปรายกันอยู่ ตนก็ยังยืนยันว่าทราบกันดีว่านี่ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัย อันเกิดจากเรื่องการก่ออาชญากรรมเพื่อหมายปองทำร้ายพระบรมวงศานุวงศ์

“แต่มันเป็นปัญหาที่สืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความขัดแย้งทางความคิด มันต้องยอมรับตรงนี้ก่อน ถึงจะพิจารณาอย่างรอบด้านว่าเราจะจัดการบริหาร จัดการถวายความปลอดภัย และการแก้ปัญหาทางการเมืองที่เกี่ยวข้องอย่างไร แน่นอนวันนี้คงไม่ใช่วาระที่เราจะมาพูดกันเรื่องการแก้ปัญหาทางการเมืองโดยละเอียด แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยประเด็นหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้จากกรณีของคุณตะวันก็คือว่ามันต้องมีปัญหาอะไรอย่างแน่นอนที่รัฐไทยสามารถทำให้คนๆ หนึ่งที่เขาแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมืองด้วยการถือกระดาษแผ่นหนึ่ง แล้วผลักให้เขาตัดสินใจทำในสิ่งที่คนไทยจำนวนมาก ไม่คาดคิดว่าจะมีใครกล้าทำ มันต้องมีปัญหาอะไรสักอย่าง เมื่อประชาชนคนหนึ่งเขาอยากพูด แต่เราไม่อยากฟัง เพราะมันไม่น่าฟังและไม่ต้องการให้คนอื่นได้ยิน แล้วเราพยายามจะปิดปากเขา สุดท้ายเขาเลยเลือกที่จะตะโกน และนำมาสู่สถานการณ์ที่เราไม่พึงปรารถนา นี่เป็นบทเรียนอย่างน้อยอย่างหนึ่งที่เราควรพิจารณาหลังจากนี้โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร” นายชัยธวัช กล่าว

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าคนที่กำลังตะโกนอยู่ ด้วยความเคารพคนที่ตะโกนก็ควรจะไตร่ตรองว่าวิธีการอะไรที่จะทำให้คนหันมาเปิดใจฟังพวกเรามากขึ้นด้วย การตะโกนแล้วยิ่งไม่มีใครฟังอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเช่นกัน สุดท้ายไม่ว่าจะฝ่ายไหน ตนคิดว่าเราไม่ควรจะจัดการสถานการณ์ด้วยการผลักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้สุดขั้วไปมากกว่านี้ อย่าใช้น้ำมันดับไฟ ถ้าถามว่าวันนี้เราจะเสนออะไรไปยังฝ่ายบริหาร ฝ่ายรัฐบาลจากญัตตินี้ นอกจากการทบทวนกฎหมายระเบียบแบบแผนต่างๆ แล้ว ตนคิดว่าสิ่งที่ฝ่ายบริหารทำได้คือกุศโลบายทางการเมือง ตนไม่สบายใจได้ยินสมาชิกฝั่งรัฐบาลพูดกันถึงถ้าไม่พอใจให้ไปอยู่ประเทศอื่น หนักแผ่นดิน นิ้วไหนร้ายก็ตัดนิ้วนั้นทิ้ง

“นี่ผมยังนึกว่าเราอยู่ในรัฐบาลจากการรัฐประหาร ผมคิดว่าเราเคยมีบทเรียนมาแล้วว่าการใช้ความจงรักภักดีมาแบ่งแยกประชาชน สุดท้ายไม่สามารถส่งผลดีกับใครเลย เราเคยผ่านเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 มาแล้ว มันสอนเราแล้วว่าสุดท้ายเราใช้กำลังใช้อาวุธร้ายแรงยิงเข้าไปสู่ประชาชนที่เราไม่อยากฟัง ฆ่าเขาตายกลางเมือง ลากเขาไปแขวนคอใต้ต้นมะขาม ตอกอก หรือกล่าวหาผู้คนจำนวนมากว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนสุดท้ายเขาไม่มีทางเลือกและเข้าไปเป็นคอมมิวนิสต์จริงๆ ในป่า มันไม่ใช่ทางออก สุดท้ายเราก็ต้องแก้ปัญหาทางการเมืองนิรโทษกรรมเปิดโอกาสให้คนที่เข้าร่วมกับคอมมิวนิสต์มาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย มันวนลูปอยู่แบบนี้ ผมหวังว่ารัฐบาลของเรา สส. ของเราจะมีสติ และระงับความโกรธอย่างที่เจ้าของญัตติได้เปิดเอาไว้ตั้งแต่แรก และใช้กุศโลบายทางการเมืองแก้ปัญหา อย่าผลักใครให้สุดขั้วไปมากกว่านี้ แล้วเพิ่มพื้นที่ตรงกลางให้มากที่สุด เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกันสามารถที่จะหาจุดร่วมกันได้เพื่อให้ประเทศไทยเราออกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว เพื่อให้ประเทศของเรามีสมาธิในการเดินหน้าไปเผชิญหน้ากับโลกที่ผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ” นายชัยธวัช กล่าว.