ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1992 ในการประชุมเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนจัดโดย UN ที่กรุงรีโอ เด จาเนโร ตอนนั้นผู้คนทั่วโลกกำลังกังวลเรื่อง “ภาวะโลกร้อน ภาวะเรือนกระจก ภัยธรรมชาติ การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ความเหลื่อมลํ้า จนอาจจะนำมาซึ่งหายนะในอนาคตที่กำลังจะมาถึง โดยตอนนั้นเป็นปลายศตวรรษที่ 20 และทุกคนเชื่อว่าถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ เราจะส่งอนาคตที่ล่มสลายให้กับลูกหลานของเราในศตวรรษที่ 21 และก็เป็นเช่นนั้น

ในตอนนั้น เหล่านักวิชาการ และ NGO ต่างตำหนิภาคธุรกิจว่าเป็นสาเหตุของความหายนะของโลก ผมจำได้ว่าในวงสนทนานั้น นักธุรกิจคุยกันว่ามหาวิทยาลัย สอนให้พวกเขาสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภคด้วยการตลาดประชาสัมพันธ์ เพิ่มยอดขาย และทำกำไรสูงสุดให้กับองค์กร นี่คือวิชาที่พวกเขาเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ส่วนวิชาที่เกี่ยวกับสังคม สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล และความยั่งยืน มหาวิทยาลัยสอนน้อยมาก ในช่วงนั้นมีการเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนใหม่ โดยใส่เรื่องความยั่งยืนเข้าไปให้เข้มข้นในหลักสูตรต่าง ๆ แต่เสียงเรียกร้องก็คงจะดังไม่พอ

’มหาวิทยาลัยก็เปรียบเสมือนโรงงานที่ผลิตบุคลากรเข้าสู่สถานประกอบการ ถ้าผลผลิตที่มหาวิทยาลัยผลิตออกมามี DNA เรื่องความยั่งยืน โลกก็จะยั่งยืน แต่ถ้าผลิตคนที่ไม่สนใจความยั่งยืนออกมามาก ๆ โลกก็จะเร่งสู่หายนะเร็วขึ้น”

ช่วงระยะเวลา 30 ปีผ่านไป จากการประชุมที่กรุงรีโอ เด จาเนโร วันนี้มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกได้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน ไม่เพียงเพิ่มวิชาในหมวดศึกษาทั่วไป แต่ใส่ SDG เข้าไปในหลักสูตรหลักของทุกคณะ และปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน เพื่อปลูกฝังนิสัยและพฤติกรรมให้นิสิตนักศึกษามีความคิดเรื่องความยั่งยืนอยู่ใน DNA

ทั้งนี้ ในรายงานจาก World Economic Forum บอกว่าอาชีพในอนาคตจะต้องมีความรู้เรื่องความยั่งยืน และอาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนก็เป็นที่ต้องการมากที่สุดใน 5 อันดับแรก ขณะที่อาชีพอีกจำนวนมากกำลังหายไป เพราะ AI มาทดแทน ดังนั้น ผู้ที่กำลัง
จะเลือกมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับมิติความยั่งยืน สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน จะรู้ได้อย่างไรว่า
มหาวิทยาลัยนั้น มีความยั่งยืนแค่ไหน?

1.ดูจากการจัดอันดับ Ranking ต่าง ๆ ที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ เช่น Impact Ranking และ UI Green เป็นต้น

2.ลองอ่านรายงานความยั่งยืน (Sustainable Report) ของมหาวิทยาลัย เพื่อดูว่ามหาวิทยาลัยที่เราสนใจทำอะไรเรื่องความยั่งยืนบ้าง มีหลักสูตรเด่น ๆ มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ มีการเรียนการสอน มีกิจกรรมอะไร และในรายงานจะระบุเรื่องการจัดอันดับ Ranking ด้านความยั่งยืนไว้ด้วย ซึ่งรายงานนี้จะอยู่ใน Website ของมหาวิทยาลัย

3.ตอนที่มหาวิทยาลัยมี Open House ลองเดินสำรวจว่ามีสิ่งแวดล้อมด้านความยั่งยืนอย่างไร เช่น มีต้นไม้ร่มรื่น มีการส่งเสริมการเดินทางในมหาวิทยาลัยด้วยการเดิน จักรยาน ขนส่งสาธารณะไฟฟ้าหรือไม่ และในโรงอาหารมีการแยกขยะ มีการส่งเสริม Zero Waste เช่น ลดใช้ภาชนะโฟมและถุงพลาสติก มีจุดเติมนํ้าดื่มสะอาด หรือนักศึกษามีกระบอกนํ้าส่วนตัวหรือไม่ โดยอย่าดูเพียงว่ามหาวิทยาลัยมี Logo SDG 17 สี ที่แปะเอาไว้สวย ๆ ในที่ต่าง ๆ แต่ต้องดูสิ่งแวดล้อมเชิงประจักษ์ด้วย

4.ดูหลักสูตรต่าง ๆ ที่เราอยากเรียนเรื่องความยั่งยืนว่ามีเพียงพอหรือไม่ มีเฉพาะศึกษาทั่วไป หรือมีผสมผสานในวิชาชีพด้วย มีวิธีเรียนวิธีสอนอย่างไร มี Sandbox ให้ทดลองหรือไม่ มีโครงการในชุมชน Community Living Lab ให้ฝึกฝนอย่างไร

5.ดูอาจารย์ผู้สอนว่ามีชื่อเสียงด้านความยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน มีงานวิจัยหรืองานวิชาการที่น่าสนใจอะไรบ้าง มีอาจารย์จากผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงด้านความยั่งยืนมาช่วยสอนมากน้อยแค่ไหน และน่าจะถามด้วยว่ามีสหกิจศึกษาที่สามารถฝึกงานจริงในสถานประกอบการณ์ที่มีชื่อเสียงด้านความยั่งยืนหรือไม่ ดูแล้วลองเลือกมหาวิทยาลัยที่เหมาะกับเราดูนะครับ เพื่อเลือกเรียนมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนเพื่ออนาคตของเรา และอนาคตของโลกที่ยั่งยืน.