การเดินทางของธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มิได้ใช้กำไรเป็นตัวตั้ง แต่ใช้ความอยู่รอด และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรพอเพียงเป็นเป้าหมายนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย เพราะมีอุปสรรคขวากหนามต่าง ๆ ท้าทายอยู่ตลอดเส้นทาง โดยแนวความคิดที่จะทำร้านอาหาร “ยักษ์กะโจน” และร้านค้าผลิตภัณฑ์เกษตรปลอดภัยจากชุมชน เพื่อต่อห่วงโซ่ธุรกิจจากต้นนํ้าสู่ปลายนํ้า จากฟาร์มไปเสิร์ฟยังโต๊ะอาหาร นับเป็นความคิดที่เติมเต็มห่วงโซ่การเกษตรยั่งยืนได้เป็นอย่างดี

ผมจำได้ว่าเคยมาทานอาหารที่ “ยักษ์กะโจน” หลายครั้ง แต่ครั้งนี้เมนูเปลี่ยนไป ผมชอบทานอาหารที่นี่ ไม่ใช่แค่อยากสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกร แต่ผมอยากทานอาหารอร่อย ๆ ในบรรยากาศดี ๆ “คุณหนาว-พิเชษฐ โตนิติวงศ์” CEO หรือ ผู้จัดการไปทั่วของธรรมธุรกิจ บอกผมว่า เชฟเปลี่ยนไปหลายชุดแล้ว ช่วง Covid-19 โรงแรมและร้านอาหารปิดจึงหาเชฟมาช่วยง่าย แต่ตอนนี้กิจการต่าง ๆ กลับไปเป็นปกติ เชฟก็ขาดแคลน แต่โชคดีที่พบเชฟรุ่นใหม่ ๆ ที่มี Passion เหมือนกัน มาช่วยออกแบบควบคุมคุณภาพจนลงตัวเลยชวนเพื่อน ๆ ให้ได้มาชิมกัน

Creative Chef แนะนำให้เริ่มต้นด้วยการดื่มนํ้าสมุนไพร เพื่อเพิ่มความสดชื่น และปรับลิ้นให้เตรียมรับรสชาติอาหาร ตามด้วย ปลาย่างใบชะพลู ที่เป็น Appetizer ส่วนปลาจะเป็นปลาอะไรนั้น ขึ้นอยู่กับฤดูกาล หรือที่จับมาได้ ตามด้วยสลัดผัก หรือ ส้มตำยักษ์กะโจน ที่ปรุงตามวัตถุดิบที่มี กับใช้วิธีปรับนํ้ายำและนํ้าสลัดให้เข้ากับผักที่มีในวันนั้น ตามด้วย Main Course หลายรายการ อาทิ ปลานึ่งซีอิ๊ว หมึกหมักเพสโตย่าง พาสตายักษ์กะโจน และที่ผมชอบมากที่สุด คือ มัสมั่นลิ้นวัว ที่มีจำนวนจำกัด เสิร์ฟกับข้าวกล้องสันป่าตองที่มีรสชาติและความนุ่มเข้ากับมัสมั่นรสจัดได้เป็นอย่างดี ตบท้ายด้วย Dessert อย่าง ครีมบูเล่ฟักทอง ที่มีความหวานล้างปากได้เป็นอย่างดี นับเป็นมื้อที่ประทับใจจนลืมไปเลยว่า…นี่คืออาหารสุขภาพ ซึ่งผู้ใดสนใจอาหารสุขภาพที่มีรสชาติอร่อยถูกปาก สามารถแวะไปลิ้มลองได้ที่ร้านอาหาร “ยักษ์กะโจน” สาขาสัมมากร และสาขาบรรทัดทองได้นะครับ และถ้าอยากสนับสนุนเป็นผู้ถือหุ้นก็เข้าไปที่ Line OA ของ “ธรรมธุรกิจ” ได้ และนี่คือตัวอย่าง “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ที่ขึ้นป้ายว่าอาหารแบบพอเพียง โดยเชฟสร้างสรรค์…Sufficient Food crafted by Creative Chefs.