เมื่อวันที่ 22 ก.พ.67 ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม กล่าวภายหลังการประชุมว่า เป็นการขอฟังความเห็นกรรมาธิการทุกฝ่าย เพื่อแสดงเป้าหมายในการขอนิรโทษกรรม โดยส่วนใหญ่เห็นว่าเป้าหมายส่วนใหญ่ในการทำนิรโทษกรรมครั้งนี้ คือยุติความขัดแย้งและความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ด้วยความปรองดอง และอยู่ด้วยกันได้อย่างเห็นต่าง หากมีความเห็นต่างก็ขอให้ความเห็นนั้นเป็นความขัดแย้งทางความคิด ไม่ใช่ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงเหมือนในอดีต ส่วนเหตุผลรองๆ ก็เช่น เพื่อทำให้สังคมไทยกลับคืนสู่ความปกติสุข เนื่องจากทุกคนเห็นว่าผลการขัดแย้งทางการเมืองเมื่อปี 49 เป็นต้นเหตุสำคัญทำให้ประเทศไทยมีปัญหา ไม่สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าได้ เศรษฐกิจที่ตกต่ำก็มีผลมาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งนั้น

เมื่อถามถึง การขอนิรโทษกรรมความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นายชูศักดิ์ กล่าวว่า มีความเห็นทั้ง 2 ส่วน บางส่วนบอกว่ายังไม่ควรจะมี ขณะที่บางส่วนก็เห็นด้วยแบบมีเงื่อนไขที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่างๆ เนื่องจากเห็นว่าการนิรโทษกรรม ควรต้องมีลักษณะทำให้สิ่งที่เป็นความขัดแย้งนั้นยุติลง และไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก ซึ่งการประชุมนัดต่อไป กมธ.จะขอเปิดรับฟังกรรมาธิการที่เหลืออีก 4-5 ท่าน ที่ไม่ได้มาร่วมประชุมในวันนี้ และจะจัดทำเป็นข้อสรุปว่าท้ายที่สุด จะมีความเห็นออกมาอย่างไร และจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ในหลักว่า “การนิรโทษกรรมจะรวมการกระทำอะไรบ้าง”

เมื่อถามถึง แนวโน้มความเห็นจากกรรมาธิการมีความเห็นในมาตรา 112 นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะความเห็นยังไม่สามารถจำแนกได้ เป็นเพียงการแสดงความเห็นในเชิงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือเห็นด้วยแบบมีเงื่อนไข หรือออกมาในรูปแบบมาตรการที่อาจไม่ใช่การนิรโทษกรรมก็ได้ ส่วนจะรวมคดีทุจริตหรือไม่นั้น ในที่ประชุมยังไม่ถึงขั้นได้ข้อสรุปในเรื่องนั้น เมื่อถามว่า จากการเปิดรับฟังความเห็นแล้ว กมธ.จะมีการขยายระยะเวลาพิจารณาให้เกินกรอบเวลา 60 วันหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า กำลังหารือ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำในระดับไหน ขณะนี้ก็มีความเห็นที่เป็นข้อยุติแบบพอสมควรแล้วเช่นกัน เช่น หน้าที่ของ กมธ. ก็น่าจะเพียงเสนอหลักการเท่านั้น บางท่านก็เสนอว่าให้เป็นทางเลือกหลายๆ แบบเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจ ตอนนี้กำลังดูกันอยู่ แล้วจะตัดสินใจในครั้งหน้า

“การประชุมยังไม่ถึงขั้นให้เสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับใหม่ ส่วนจะมีโอกาสที่จะทำเป็นร่างกฎหมายควบคู่กันไปหรือไม่นั้น มองว่า ถ้าคิดจะยกร่างไปด้วยก็ไม่น่าจะทันกรอบเวลาทำงานของคณะกรรมาธิการ 60 วัน เนื่องจากกฎหมายเป็นเรื่องที่สำคัญต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณารายละเอียด บางครั้งเพียงมาตราเดียวก็ใช้เวลาถึง 2 วัน” นายชูศักดิ์ กล่าว.