เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้เป็นหัวหน้าคณะนำทีมประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดทักษะ 2024 หรือ Skills Summit 2024  จัดโดย The Organisation for Economic Co-operation and  Development (OECD) ณ พระราชวัง palais des Académies กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยมีรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจาก 39 ประเทศ เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ซึ่งตนได้ชี้แจงในเวทีดังกล่าวถึงการปรับปรุงทักษะ (Up-skills & Re-skills) ที่จำเป็นสำหรับอนาคต และมาตรการดำเนินงานของประเทศไทยให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก เช่น ทักษะแรงงานที่ต้องมีสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital transition) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green transition) ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ของประเทศไทย ได้พยายามดำเนินการในด้านการพัฒนาทักษะในระดับนโยบายและปฏิบัติ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานและเยาวชนเหล่านี้ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศและนำไปสู่การยกระดับความร่วมมือที่แข็งแกร่งในภูมิภาค ได้ระดับมาตรฐานสากลขององค์การ OECD และจากการที่รัฐบาลไทยมุ่งเน้นปรับเปลี่ยนโมเดลรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบ BCG Economy Model ส่งผลให้ต้องเตรียมเพิ่มทักษะ STEM และดิจิทัลให้แก่คนไทย ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและการพัฒนาประเทศมากขึ้น

เลขาธิการ สกศ. กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ตนมองว่าการที่เราได้มาร่วมประชุมกับ OECD ที่ด้านนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาการเรียนรู้และทักษะของสมาชิก OECD 38 ประเทศ รวมถึงได้ประสานงานกิจการต่าง ๆ ที่ดำเนินการ โดยจะเป็นการสร้างสะพานสู่โอกาสใหม่ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน และขับเคลื่อนการเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และสนับสนุนนโยบายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาผ่านโครงการ PISA ตามนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการด้วย นอกจากนี้ ตนยังได้พบกับ Mr.Andreas Schleicher ผู้อำนวยการด้านการศึกษา และทักษะและที่ปรึกษานโยบายการศึกษาของเลขาธิการขององค์การ Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) โดยได้มีการแลกเปลี่ยนและเชิญ เข้าร่วมการประชุมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและยกระดับคะแนน PISA เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการวิเคราะห์ผลจากการสอบ PISA และการนำผลการจากการวิเคราะห์ไปใช้ในการยกระดับ และพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยด้วยเช่นกัน