อีกหนึ่งเส้นใยธรรมชาติจาก “ผักตบชวา” วัชพืชลอยนํ้าที่แพร่กระจายขยายพันธุ์เร็ว สร้างอุปสรรคให้กับการคมนาคม กีดขวางการ
ระบายนํ้าและการจัดเก็บ ผักตบชวา วัชพืชดังกล่าวสามารถนำกลับมาแปรรูป เพิ่มมูลค่า ต่อยอดผลิตภัณฑ์
สิ่งทอและแฟชั่นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่วมสร้างความยั่งยืนเซฟโลก

นำความรู้ เรื่องน่ารู้การแปรรูปเส้นใยผักตบชวา การเพิ่มมูลค่าเพิ่ม โดย อาจารย์นฤพน ไพศาลตันติวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งศึกษาพัฒนาวิจัยการผลิตเส้นใยจากผักตบชวา การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอและแฟชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้มุมมองการสร้างสรรค์ ให้ความรู้ว่า ผักตบชวาเป็นวัชพืชที่พบตามแม่นํ้า คูคลอง เกิดขึ้นตลอดเวลามีอยู่แทบทุกจังหวัด

การศึกษาวิจัย การแปรรูปเส้นใยจากผักตบชวาและการพัฒนาต่อยอดในเรื่องนี้มีการศึกษากันมายาวนาน โดยคณะเราฯดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 10 ปี หลายพื้นที่เราเข้าไปศึกษาส่งเสริมความรู้ให้กับชุมชน อย่างพื้นที่ภาคกลาง จังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท พื้นที่ที่พบปัญหาผักตบชวาค่อนข้างมากจึงศึกษาวิจัย เพื่อสร้างความยั่งยืน แปรรูปพัฒนานับตั้งแต่
กระดาษถึงเส้นใย

“การเพิ่มมูลค่าผักตบชวาเริ่มด้วยขั้นตอนง่าย ๆ ที่ชุมชนสามารถทำได้เองด้วยการผลิตกระดาษ ให้ความรู้การแปรรูปกระดาษและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขณะที่การพัฒนาเส้นใยให้ความรู้ การพันเกลียวใช้เส้นใย 100% และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถนำผักตบชวากลับมาใช้ประโยชน์สร้างสรรค์ได้ทั้งสิ่งทอและของตกแต่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ อาจารย์นฤพนอธิบายอีกว่า ผักตบชวา แพร่กระจาย เติบโตค่อนข้างรวดเร็ว โดยประมาณในช่วงสิบวันสามารถมีมากถึง 1,500 ตัน ซึ่งหากยาวนานขึ้นยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การจัดการที่เหมาะสมถูกวิธีมีความสำคัญ ทั้งนี้ นอกจากลอกแม่นํ้าคูคลอง นำผักตบชวาทำปุ๋ย ยังนำมาต่อยอดพัฒนาเส้นใยซึ่งนอกจากสิ่งทอ งานจักสาน ยังนำมาเป็นวัสดุกันกระแทก ดูดซับเสียง ฯลฯ

ในด้านสิ่งทอ มองว่า เส้นใยจากผักตบชวา เป็นอีกวัสดุทางเลือกที่น่าสนใจ มีคุณสมบัติเด่นหลายด้าน วัสดุจากเส้นใยผักตบชวา สามารถพัฒนาต่อไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อีกมาก นอกจากงานจักสานซึ่งก็ยังคงเป็นที่ต้องการ ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง

“เส้นใยจากผักตบชวาสามารถนำมาใช้ได้ทั้ง 100% หรือนำมาผสมกับฝ้าย เส้นใยผักตบชวา 100% จะมีความแข็ง คงทน ไม่เปื่อยยุ่ยง่าย หรือหากจะนำมาทำให้มีความนุ่มในตัวก็ทำได้ โดยเส้นใยจากผักตบชวา เมื่อนำมาทอเป็นผ้าผืนจะนำมา ผสมกับฝ้ายเพื่อให้มีความอ่อนนุ่ม ทั้งนี้หากมีเปอร์เซ็นต์เส้นใยผักตบชวามาก จะทำให้เนื้อผ้าแข็งกระด้าง และนอกจาก สีสันเส้นใยมีเอกลักษณ์ สวยงามตามธรรมชาติ เมื่อนำไปย้อมสีธรรมชาติอย่างคราม มะพูด ครั่ง (นํ้าเงิน เหลือง แดง)ฯลฯ สามารถติดสีได้ดี การนำกลับมาใช้ประโยชน์หากได้รับความร่วมมือ ส่งเสริมและพัฒนาจะยิ่งมีความคุ้มค่า ทั้งในด้านการจัดการขยะผักตบชวา การเพิ่มคุณค่า มูลค่าให้กับผักตบชวา ฯลฯ

“เส้นใยจากผักตบชวาที่ผ่านมาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีมานาน คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่นมทร.พระนคร เรามองถึงการสร้างสรรค์การดีไซน์ การนำมาใช้ในที่ชีวิตประจำวัน รวมถึงการดูแลรักษา ซึ่งต่างประเทศให้ความสนใจ เป็นวัสดุทางเลือกที่มีความ
โดดเด่น สามารถนำมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อย่างเช่น กระดาษ มีความเหนียว คงทน สวยงามเช่นเดียวกับกระดาษสา
เมื่อนำมาทอก็จะมีทั้งผ้าผืนและนำไปแปรรูปเป็น กระเป๋า โดยส่วนนี้นอกจากพัฒนาต่อยอด ผสมฝ้ายเพื่อให้มีความอ่อนนุ่ม ยังทอผสมดิ้นทองเพิ่มมูลค่า แวววาวหรูหรารับกับดีไซน์กระเป๋าที่สามารถใช้ได้หลายโอกาส”

ขณะที่ เครื่องประดับ ใช้เส้นใยผักตบชวาร้อยเปอร์เซ็นต์นำมาพันผสมกับดิ้นทองซึ่งให้ความหรูหรา ดีไซน์และพัฒนาต่อยอดกับวัสดุเหลือใช้อื่น ๆ ได้อีก หรือแม้แต่ ชุดเสื้อผ้า นอกจากใช้เส้นใยผักตบชวาร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือผสมกับฝ้าย หรือไหมแล้ว สามารถนำเส้นใยมาถัก ทอ ปักตกแต่งสร้างลวดลายให้กับชุดเสื้อได้อย่างลงตัว อีกทั้งวัสดุผักตบชวายังสามารถพัฒนาต่อยอดต่อไปได้อีกยาวไกล อีกเส้นใยธรรมชาติจากวัชพืชไร้ค่าที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีมูลค่า

วัสดุทางเลือก ทดแทนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ร่วมสร้างความยั่งยืน.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ
[email protected]