สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 29 ก.พ. ว่า นายเดวิด คาเมอรอน รมว.การต่างประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวถึงการที่คณะผู้บริหารฮ่องกง เสนอร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับปรับปรุง เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ และกำหนดเป้าหมายให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ “คือการขัดขวางเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน”


ขณะเดียวกัน คาเมรอนกล่าวว่า การบัญญัติกฎหมายดังกล่าว จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง ที่มีสำนักงานฮ่องกง แต่กลับถูกขึ้นบัญชีเป็น “การแทรกแซงจากต่างประเทศ” ซึ่งการขึ้นบัญชีลักษณะนี้ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสำนักงานการทูตต่างประเทศในฮ่องกง


ทั้งนี้ คาเมรอนกล่าวว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรแสดง “ความวิตกกังวล” ให้รัฐบาลฮ่องกงรับทราบโดยตรง และขอเรียกร้องให้มีการทบทวนเรื่องนี้ รวมถึงมีการจัดทำกลไก ที่ต้องให้ชาวฮ่องกงมีส่วนร่วมกับการบัญญัติกฎหมายความมั่นคง และทิ้งท้ายว่า กระบวนการของฮ่องกงในเรื่องนี้ ถือเป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศหลายประการ รวมถึง ปฏิญญาร่วมจีน-สหราชอาณาจักร ซึ่งมีการลงนามร่วมกัน เมื่อปี 2527 เพื่อกำหนดแนวทางและเงื่อนไข ก่อนการส่งมอบเกาะฮ่องกงกลับคืนสู่จีนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2540


ด้านสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงลอนดอนออกแถลงการณ์ ว่าปฏิญญาร่วมจีน-สหราชอาณาจักร “ไม่ได้มอบสิทธิให้แก่สหราชอาณาจักร ในการแทรกแซงกิจการภายในของฮ่องกง” ดังนั้น “ความวิตกกังวลและการกล่าวหา” ของคาเมรอน “เต็มไปด้วยอคติและไร้ซึ่งหลักฐาน”


อนึ่ง นายจอห์น ลี หัวหน้าคณะผู้บริหารฮ่องกง เสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ซึ่งจีนเป็นผู้บัญญัติ เมื่อกลางปี 2563 เพื่อยุติการประท้วงที่ยืดเยื้อ 1 ปีก่อนหน้านั้น ส่งผลให้มีการดำเนินคดีและจำคุกนักเคลื่อนไหวจำนวนมาก และหลายคนหลบหนีออกไปลี้ภัยในต่างประเทศ.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES