ร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้ง สำหรับการเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หลังมีนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (อีเอ) ประกาศลงสมัครประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คนที่ 17 ต่อจากนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. คนปัจจุบัน ที่กำลังจะหมดวาระลงสมัยแรก ปี 65-66  และเตรียมที่จะเข้าสู่การสมัครเลือกตั้งวาระที่ 2 ปี 67-68

จากที่ผ่านมาการชิงประธาน ส.อ.ท. จะมีการเจรจากันนอกรอบว่า ประธานเดิมจะต่ออายุหรือไม่ เพื่อทำให้การเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท. ไม่มีความขัดแย้ง เนื่องจากย้อนไปปี 55 และปี 57 โดยเฉพาะปี 55 เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวาย จนทำให้เสียภาพลักษณ์ ส.อ.ท.อย่างหนัก หลังกลุ่มสมาชิก ส.อ.ท.จำนวนหนึ่ง ไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ในฐานะประธาน ส.อ.ท. โดยอ้างเหตุผลว่า ไม่รักษาผลประโยชน์ของสมาชิก ส.อ.ท. ยอมให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท จนนำไปสู่ความวุ่นวายเปิดโรงแรมแถลงข่าวประท้วงกันไปกันมา

ต่อมาปี 57 หลังจากนายพยุงศักดิ์ หมดวาระ มีการแข่งขันจากผู้สมัคร 2 ราย คือ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองประธาน ส.อ.ท. และนายวิศิษฏ์ ลิ้มประนะ รองประธานและประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารในขณะนี้ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มได้มีการเดินสายหาเสียงกันเต็มที่ แบ่งกลุ่มกองเชียร์ชัดเจน ทำให้บรรยากาศระหว่างการเลือกตั้ง ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ร้อนแรงมาก มีพูดคุยกันนอกรอบหลายรอบมาก จนในที่สุดนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ชนะการเลือกตั้งอย่างขาดลอยในครั้งนั้น        

ถามว่า ทำไมตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. ถึงเป็นที่จับตา และเป็นที่ต้องการมานั่งของนักธุรกิจหลายคน ต้องบอกว่า บทบาทของ ส.อ.ท. ที่มีมาตั้งแต่สมัยนายทวี บุณยเกตุ  อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของประเทศไทย เป็นประธาน ส.อ.ท. คนแรก รวมทั้งนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อน ดังนั้นตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.จึงมีบทบาทสูงในระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดย ส.อ.ท. เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีกลุ่มอุตสาหกรรมเข้ามาเป็นสมาชิกทั้งหมด 46 กลุ่ม และ 76 กลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัด ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมการผลิต โรงงาน เกินกว่า  60-70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จึงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศค่อนข้างมาก และเป็นหนึ่งในองค์กรเอกชนที่เข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ร่วมกับหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ทำหน้าที่เจรจาต่อรองกับรัฐบาล พร้อมเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางด้านการค้า การลงทุน  เป็นองค์กรที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการฟังเสียงอย่างมาก

ทำเนียบนายกสมาคมอุตสาหกรรมไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

นายกสมาคมฯ กิตติมศักดิ์

พ.ศ. 2510 – 2512      ฯพณฯ นายทวี บุณยเกตุ

พ.ศ. 2513 – 2518      พล.ต.อ. ประมาณ อดิเรกสาร

พ.ศ. 2519 – 2520      นายบรรเจิด ชลวิจารณ์

พ.ศ. 2521 – 2522      พล.ต.อ. ประมาณ อดิเรกสาร             

พ.ศ. 2523 – 2525      ดร. ถาวร พรประภา

พ.ศ. 2525 – 2529      นายพงส์ สารสิน

พ.ศ. 2529 – 2530      นายชุมสาย หัสดิน

พ.ศ. 2530 – 2533      นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา

ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กิตติมศักดิ์

พ.ศ. 2533 – 2534      ฯพณฯ นายอานันท์ ปันยารชุน

พ.ศ. 2534 – 2541      ดร. โชคชัย อักษรนันท์             

พ.ศ. 2541 – 2545      นายทวี บุตรสุนทร                

พ.ศ. 2545 – 2549      นายประพัฒน์ โพธิวรคุณ

พ.ศ. 2549 – 2553      นายสันติ วิลาสศักดานนท์

พ.ศ. 2553 – 2555      นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล

พ.ศ. 2555 – 2557      นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล 

พ.ศ. 2557 – 2559      นายสุพันธุ์ มงคลสุธี

พ.ศ. 2559 – 2561      นายเจน นำชัยศิริ       

พ.ศ. 2561 – 2563      นายสุพันธุ์ มงคลสุธี

พ.ศ. 2563 – 2565      นายสุพันธุ์ มงคลสุธี

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

.ศ. 2565 – ปัจจุบัน     นายเกรียงไกร เธียรนุกุล