สำนักข่าวซินหัวรายงานจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 29 ก.พ.ว่าอินดรานี ซึ่งดูแลกองประชากรและผู้มีความสามารถแห่งชาติ ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิงคโปร์มีการแต่งงานของผู้มีถิ่นพำนักในท้องถิ่น 26,500 ครั้ง เมื่อปี 2566 และการเกิดของผู้มีถิ่นพำนักในท้องถิ่น 30,500 คน ขณะที่ชาวสิงคโปร์แต่งงานและมีลูกกันน้อยลง หากคิดเฉลี่ยรายปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้า


อัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงมีสาเหตุหลายประการ รวมถึง ภาวะการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 การชะลอแผนการแต่งงานและมีบุตรของคู่สามีภรรยาบางส่วน แรงกดดันทางการเงินในการเลี้ยงดูบุตร ความกังวลเกี่ยวกับสมดุลชีวิต-การทำงาน และแนวคิดลำดับความสำคัญในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป


ส่วนการเกิดที่ลดลงแสดงนัยน่าวิตกกังวลบางประการ ซึ่งรวมถึงการเป็นสังคมสูงวัยและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยพลเมืองอายุ 65 ปีขึ้นไป ครองสัดส่วนเกือบ 1 ใน 5 ของประชากรสิงคโปร์ เมื่อนับถึงกลางปี 2566


อินดรานี กล่าวว่า การเกิดที่ลดลงจะทำให้สิงคโปร์เผชิญกับปัญหาแรงงานหดตัว ซึ่งจะเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการรักษาพลวัตดึงดูดธุรกิจระดับโลก และสร้างโอกาสให้กับคนรุ่นถัดไป


รัฐบาลสิงคโปร์กำลังดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีบุตร เช่น เพิ่มจำนวนวันลาคลอดและเลี้ยงดูบุตรแบบจ่ายค่าจ้างโดยรัฐบาลของผู้เป็นพ่ออีกเท่าตัว การเพิ่มจำนวนวันลาเลี้ยงดูบุตรแบบไม่จ่ายค่าจ้าง และการสนับสนุนข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน ให้แก่ครอบครัวที่มีบุตร.

ข้อมูล : XINHUA

เครดิตภาพ : AFP