เมื่อวันที่ 1 มี.ค. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกแถลงการณ์เรื่อง การจัดทำแผนที่แสดงแนวเขตอุทยานแห่งชาติ โดยระบุว่า การกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 หรือพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2505 (เดิม) โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและมีแผนที่แสดงแนวเขตแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีพระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2505 มีแนวเขตตามแผนที่แนบท้ายฯ มาตราส่วน 1 : 250,000 ที่ได้มีการสำรวจรังวัดแนวเขต มาตั้งแต่ปี 2502 และได้นำผลการสำรวจรังวัดมาประกอบกับสภาพข้อเท็จจริง แล้วจึงขึ้นรูปเป็นแผนที่ในมาตราส่วนที่เหมาะสมจัดทำเป็นแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา

ต่อมากรมอุทยานฯ ได้ถ่ายทอดเส้นแนวเขตตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา ลงบนแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1 : 50,000 ของกรมแผนที่ทหาร ในระบบเชิงเลข (Digital Map) และจัดแนวเขตอุทยานแห่งชาติในรูปแบบดิจิตอล (Shape files) เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน แก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ปัญหาข้อพิพาทที่ดินและพื้นที่ทับซ้อนต่างๆ โดยการจัดทำแนวเขตดังกล่าว เป็นไปตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงในพื้นที่
ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยมาตรฐานระวางแผนที่และแผนที่รูปแปลงที่ดินในที่ดินของรัฐ พ.ศ.2550 รวมทั้งได้มีการถ่ายทอดแนวเขตอุทยานแห่งชาติตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาลงในแผนที่มาตราส่วน 1 : 4,000 และแผนที่ระวาง
มาตราส่วน 1 : 50,000 ตามที่ระเบียบกำหนดครบทุกแห่งแล้ว

โดยแผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000 ที่ได้จัดทำขึ้นได้ส่งให้คณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One Map) เป็นแผนที่รัฐ ในการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) ซึ่งในคราวประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 65 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ สระแก้ว สุรินทร์ อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ และเลย ตามที่กรมอุทยานฯ เสนอ แต่เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้รับเรื่องร้องเรียนแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทับซ้อนกับที่เอกชน (เป็นกรณีบริษัท ภูพบฟ้า จำกัด ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีแปลง ส.ป.ก.) ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 66 เห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ฯ (One Map) กลุ่มที่ 3 ยกเว้นกรณีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมาและปราจีนบุรี

กรณีปัญหาแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บริเวณที่มีการออกเอกสาร ส.ป.ก. ในท้องที่บ้านเหวปลากั้ง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ไม่สอดคล้องตรงกันกับแนวเขตของกรมแผนที่ทหาร เห็นควรให้คณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ (One Map) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พิจารณาตามหลักเกณฑ์การพิจารณา One Map ให้ได้ข้อยุติและถูกต้องตามข้อเท็จจริงต่อไป