เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่รัฐสภา นายยุทธพร อิสระชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงผลงานของรัฐบาลในรอบ 6 เดือน ว่า วันนี้รัฐบาลมีข้อจำกัดในการบริหารงาน เพราะไม่เหมือนกับรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ในอดีต ที่มีเสียงค่อนข้างเด็ดขาด รวมทั้งไม่ได้มีเสียงอันดับ 1 ทำให้มีข้อจำกัดในการตัดสินใจ เพราะเป็นรัฐบาลผสม การตัดสินใจจึงใช้ลักษณะของการประนีประนอม อีกทั้ง กระบวนการตรวจสอบในรัฐธรรมนูญที่เข้มข้น ทำให้มีการตรวจสอบจากองค์กรอิสระ เช่น นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มีการตรวจสอบตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำนโยบาย ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการทำงานของรัฐบาล ขณะเดียวกัน การมีอยู่ของพรรคก้าวไกล ซึ่งมีอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน ดึงคะแนนความนิยมกันไปมา จึงเป็นจุดสำคัญที่รัฐบาลจะต้องผ่าทางตันทางการเมืองตรงนี้ให้ได้ ในการที่จะขับเคลื่อนนโยบาย ไม่เช่นนั้นจะมีคำถามจากประชาชนและสังคม ที่มองเรื่องประสิทธิผลในทางนโยบาย ทั้งที่แถลงต่อรัฐสภาและที่หาเสียงเลือกตั้งเอาไว้ ซึ่งจะส่งผลต่อความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาล

เมื่อถามว่า มีการมองกันว่าเวลาอีก 3-4 เดือน จะครบการทำงาน 1 ปีของรัฐบาล มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้ต้องปรับ ครม. หรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า การปรับ ครม. มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง แต่เป็นการปรับเล็ก เมื่อทำงานครบ 6 เดือน หรือ 1 ปี เป็นเรื่องปกติ ที่จะต้องมีการประเมินการทำงานของรัฐมนตรีแต่ละคน ขณะเดียวกันก็จะต้องมีการวางยุทธศาสตร์ทางการเมือง โดยอาจจะมีการสลับผลัดเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม โดยอาจจะเป็นลักษณะของการจูนเครื่อง ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล หรือการเชื่อมต่อของกลไกรัฐ กลไกราชการ ให้ไร้รอยต่อมากขึ้น ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเกิดผล

นายยุทธพร กล่าวถึงการทำงานของฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาล โดยยังไม่ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจสมัยประชุมนี้ ว่าวันนี้การเมืองเปลี่ยนไป มีภาพสะท้อนให้เห็นว่าการที่ไม่อยู่ในฐานะของรัฐบาล ก็สามารถสร้างพื้นที่ หรือสร้างผลงานหรือเรียกคะแนนนิยมได้ ซึ่งปรากฏการณ์ของพรรคก้าวไกล เป็นผลงานที่พิสูจน์ตรงนี้ได้ แต่ปัจจุบันการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านของพรรคก้าวไกล ก็เริ่มถูกตั้งคำถามว่ายังมีความเข้มข้นในการตรวจสอบเหมือนกับตรวจสอบรัฐบาลชุดที่แล้วหรือไม่ ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของเอกภาพของฝ่ายค้าน ระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงเรื่องของการยื่นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ถูกสังคมตั้งคำถามว่า ถ้าพรรคก้าวไกลไม่อภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมนี้ เป็นเพราะมีดีลลับหรือไม่ มีการพูดคุยกันเบื้องหลังหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น

“การอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ใน 1 ปี จะทำได้เพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น ฉะนั้นสิ่งที่ฝ่ายค้านจะยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะต้องเป็นหมัดเด็ดหมัดน็อก หรือสิ่งที่เป็นแรงกระเพื่อมในทางสังคมต่อรัฐบาล เพราะวันนี้ 314 เสียงในรัฐบาล ยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลยังไปกันได้ ก็ไม่มีอะไรที่จะสั่นคลอนได้ ที่ไม่ว่าจะโหวตอย่างไร รัฐบาลก็ชนะ แต่เป้าหมายหลักของการอภิปรายไม่ไว้วางใจคือกระบวนการที่จะทำให้เกิดแรงกดดันทางสังคม ที่จะต่อเนื่องออกไปจากสภา แต่ถ้าวันนี้หากแรงกดดันทางสังคมยังมีไม่มากพอ การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจไปก็อาจจะทำให้ เสียของ หรือเป็นการใช้โอกาสเปลืองของฝ่ายค้าน” นายยุทธพร กล่าว

เมื่อถามว่า มองว่าจะมีปรากฏการณ์ที่ฝากเลี้ยง หรือการซื้อตัว สส. เกิดขึ้นในพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า ตนคิดว่าพรรคก้าวไกลมีบทเรียนจากปรากฏการณ์ผึ้งแตกรังในสมัยพรรคอนาคตใหม่ ทำให้เรื่องการเกาะเกี่ยวทางการอุดมการณ์ กลไกที่จะเกาะกันเองในพรรคน่าจะมีสูงขึ้น แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อะไรก็เกิดขึ้นในการเมืองไทย นอกจากนี้ ยังจะมีการเมืองที่ไม่เป็นทางการด้วย เช่น การดูด สส. เพื่อทำให้เกิดการย้ายพรรคข้ามขั้ว ดังคำกล่าวที่ว่าพรรคเดียวกันแต่คนละขั้ว พวกเดียวกันแต่คนละพรรค จึงสะท้อนให้เห็นการพลิกผันทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา.