นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วย นายยามาลุดดีน นิลงาม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองเปรง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา และ นายสุรวัฒน์ พลมณี ผู้ช่วยผู้อำนวยการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เขต 1 (วิชาการ) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคจังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่า พื้นที่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง จำนวน 6 ตำบล ในเขตอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา มีน้ำประปาไม่ได้คุณภาพและไม่ถูกหลักสุขอนามัย ซึ่งอยู่ในความดูแลของท้องถิ่น จึงเร่งประสานกับการประปาส่วนภูมิภาค ร่วมหารือแนวทางบริหารจัดการน้ำ และแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำประปาให้มีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า กปภ. ได้วางมาตรการการบริหารจัดการน้ำประปาพื้นที่ฝั่งขวาและฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกง ช่วงฤดูแล้ง 2567 โดยทางฝั่งขวา มีการรับส่งน้ำจากการประปานครหลวง 4.60 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) รับน้ำประปาจาก กปภ. สาขาข้างเคียง 2.12 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำดิบจากเอกชน 9 ล้าน ลบ.ม. และรับน้ำประปาจากเอกชน 1.25 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำ 16.97 ล้าน ลบ.ม. และทางฝั่งซ้าย มีการรับน้ำประปาจากเอกชน 1.17 ล้าน ลบ.ม. สูบน้ำดิบ ณ จุดสูบฝายท่าลาด 29-32 ล้าน ลบ.ม. และรับน้ำประปาจาก กปภ. สาขาข้างเคียง 0.61 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำ 33.78 ล้าน ลบ.ม. โดยมีปริมาณน้ำรวมทั้งสองฝั่งของลำน้ำ 50.75 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับความต้องการใช้น้ำโดยรวมของจังหวัดประมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. ได้เป็นอย่างดี

สำหรับพื้นที่ที่ประสบปัญหา ได้แก่ ต.คลองเปรง ต.บางเตย ต.บางขวัญ ต.คลองหลวงแพ่ง ต.คลองอุดมชลจร และ ต.เกาะไร่ ตรวจสอบพบว่าระบบประปาหมู่บ้านที่ใช้ในการจ่ายน้ำ ขาดเสถียรภาพและสุขอนามัยที่ดี รวมถึงระบบการผลิตไม่สอดรับกับการเติบโตของชุมชน โดยทาง กปภ. ได้มีการวางแผนจัดเตรียมโครงข่ายวางท่อขยายเขตประปาที่ ต.คลองเปรง แล้ว ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีน้ำสะอาดใช้อย่างเพียงพอ ในราคาเป็นธรรม สามารถแก้ไขบรรเทาภัยด้านน้ำที่ชุมชนประสบได้ และในอนาคตจะขยายโครงการฯ ไปในพื้นที่ ต.คลองเตย ต.เกาะไร่ และพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป ทาง สทนช. ได้แนะแนวทางดำเนินการด้านงบประมาณ จัดหาแหล่งน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปาเพื่อสนับสนุนให้ กปภ. เกิดการขยายตัวในพื้นที่ดังกล่าว และพื้นที่ประสบปัญหาประปาหมู่บ้านอื่น ๆ อีกกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ หรือหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด มีความประสงค์จะโอนกิจการประปาให้กับ กปภ. สามารถแจ้งความประสงค์ผ่าน กปภ. ในพื้นที่เพื่อรับโอนกิจการได้ นายไพฑูรย์ กล่าว

นอกจากนี้ สทนช. ได้มีการประสาน กปภ. จังหวัดฉะเชิงเทรา ในการบริหารจัดการความเสี่ยงคุณภาพน้ำช่วงน้ำทะเลหนุน บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง โดยที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กปภ. สามารถควบคุมค่าความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้ตลอดเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2567 จากนั้น เดือนมีนาคมถึงเมษายน 2567 จะดึงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านคลองระพีพัฒน์-บึงฝรั่ง-คลองท่าไข่ มายังจุดสูบ กปภ. สาขาฉะเชิงเทรา/บางปะกง รวมทั้งสูบรับน้ำดิบจากเอกชน มาช่วยสมทบเพื่อรักษาคุณภาพน้ำให้กับ กปภ. ทั้งสองสาขา ต่อไป

“สทนช. มุ่งมั่นยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อทุกครัวเรือน และยกระดับการรักษาคุณภาพน้ำที่ประชาชนใช้ดื่มกินไปพร้อมกัน เพื่อรองรับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ด้านที่ 1 ในการจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภค บริโภคให้แก่ชุมชน ครบทุกครัวเรือน ชุมชนเมือง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งพัฒนาน้ำดื่มให้ได้มาตรฐานในราคาเหมาะสม” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย