เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  นักปกป้องสิทธิฯ กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) องค์กร Protection International (PI) โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และกรีนพีซ ประเทศไทย ได้จัดนิทรรศการและเวทีเสวนา เพื่อนำเสนอข้อค้นพบจากรายงานวิจัย “การแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหาร คสช. กับการผลิตซ้ำความจนเรื้อรัง กรณีป่าสงวนแห่งชาติดงหมู แปลง 2” และข้อเสนอนโยบายสาธารณะที่เป็นรูปธรรมต่อหน่วยงานของรัฐด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดย น.ส.กิติมา ขุนทอง นักวิจัยโครงการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการเฝ้าติดตามผลกระทบจากการแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหารของ คสช. พบชาวบ้านคำป่าหลาย ได้รับผลกระทบ 50 ครอบครัว ครอบคลุมพื้นที่ 2 พันกว่าไร่ ที่สำคัญเราพบว่าชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ อยู่ใกล้เส้นคนเกือบจน ที่สำคัญชาวบ้านเหล่านี้ถูกนับรวมอยู่ในกลุ่มของนายทุนด้วย นั่นเป็นเพราะผลพวงมาจากนโยบายภาครัฐที่มีแนวคิดที่ว่า ทรัพยากรป่าไม้เป็นของรัฐ จึงทำให้เกิดการแย่งยึดที่ดินของประชาชน โดยอาศัยความชอบธรรมผ่านการร่างกฎหมาย ซึ่งในยุค คสช.ให้เวลาเพียง 23 วันเท่านั้นในการออกกฎหมาย  โดยรูปแบบการแย่งยึดที่ดินในสมัย คสช.ว่า มีอยู่ 7 รูปแบบ ปฏิบัติการ ประกอบด้วย  1. รื้อถอนทำลายพืชผล 2.ยึดพื้นที่ปักเสา/ปลูกป่าทับ 3.ยืนแปลงคดีแห้ง 4.ยึดสิทธิ 5.ประกาศข่มขู่ 6.ดำเนินคดี/กักขัง 7. รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง/ทรัพย์สิน

น.ส.กิติมา กล่าวว่า การแย่งยึดที่ดินทำให้ชาวบ้านจนฉับพลัน ยิ่งยาวนานเท่าไร ผลวิจัยพบว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบที่หนักหนาเพิ่มขึ้น โดยต้องอยู่กับความคลุมเครือเรื่องสิทธิ เกิดความไม่มั่นคงในที่ดิน เสี่ยงสูญเสียที่ดินแบบถาวร หรืออย่างโครงการกังหันลม จำนวน 14 จุด ในพื้นที่ป่าดงหมู แปลง 2 ก็ชัดว่ามีการสร้างทับซ้อนบนพื้นที่หากินของชาวบ้าน การอ้างว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม มีการนับเฉพาะจำนวนต้นไม้  ทั้งที่ความเป็นจริง พื้นที่ถือเป็นแหล่งซับน้ำที่สำคัญ  ซึ่งโครงการนี้ไม่ต่างอะไรกับการฟอกเขียว

นางจิราวรรณ ชัยยิ่ง  ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กล่าวว่า การแย่งยึดที่ดินในสมัย คสช.เรามีความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก ในส่วนของตนโดนแย่งยึดไป 17 ไร่ การแย่งยึดไม่มีการแจ้งล่วงหน้า หนำซ้ำมีการนำกล้าไม้มาปลูก และขีดห้ามไม่ให้เข้าพื้นที่เพราะผิดกฎหมาย จากการที่เราแอบดู เจ้าหน้าที่ที่มามีการพกอาวุธด้วย  อย่างกรณีล่าสุดที่มีการนำโครงการกังหันลมเข้ามา ชัดเจนว่า มีการทำบนพื้นที่หากินของชาวบ้าน ยืนยันว่าคนในพื้นที่ไม่มีใครยินยอม และพร้อมเดินหน้าต่อสู้ต่อ การที่ภาครัฐอ้างว่า เป็นป่าเสื่อมโทรม ยืนยันว่า ป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ ถือเป็นแหล่งซับน้ำที่สำคัญของหมู่บ้าน

นายสุรินทร์ อ้นพรม นักวิชาการอิสระด้านวนศาสตร์ชุมชน อดีตอาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า  คำป่าหลายถูกตีตราว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม เพื่อสร้างโครงการกังหันลม ยืนยันว่าหลังจากที่ตนลงพื้นที่ไป 2 ครั้ง ไม่ได้เป็นป่าเสื่อมโทรมตามที่มีการกล่าวอ้าง นั่นเป็นเพราะรัฐใช้การนับจำนวนต้นไม้เป็นหลัก ทั้งที่ในความเป็นจริงพื้นที่นี้เป็นแหล่งซับน้ำที่สำคัญ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี  เราเป็นภาคี สหประชาชาติ ต้องการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เป็นนโยบายที่รัฐพยายามผลักดัน จนเกิดเป็นวาทกรรม เศรษฐกิจสีเขียว  ภายใต้วาทกรรมนี้ มีการซ่อนเรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่สะท้อนความเป็นจริงในพื้นที่ รัฐพยายามบอกเรื่องป่าเสื่อมโทรม ในระเบียบนี้ เป็นมุมมองภาครัฐมองแค่ต้นไม้ที่มีความโตเท่านั้น นิยามนี้ คิดว่าเป็นการผูกขาดความรู้ ที่มองเฉพาะจำนวนต้นไม้ไม่มองมิติอื่น  ฉะนั้นนิยามป่าเสื่อมโทรม ต้องมานิยามใหม่ และต้องพูดอย่างถูกต้อง

“กรณีโครงการ คาร์บอนเครดิต  เป็นเกณฑ์ของที่คนให้เกิดโลกร้อน ต้องการเซฟค่าใช้จ่าย จะเห็นว่าที่ผ่านมา กลุ่มทุนพลังงาน ไม่อยากจ่ายค่าเสียหาย เราคิดว่าในไทยเอง วางรากฐานไปหมดแล้ว ตรงนี้ถือว่าอันตรายมาก ยกตัวอย่างบทความของ กรีนพีซ เผยแพร่บทความงานวิจัย สองสามปีที่ผ่านมา บ.น้ำมันยักษ์ใหญ่ ต้องการป่า 2 ล้านไร่ เพื่อปลูกป่า ต้องถามว่า การเพิ่มพื้นที่ นำไปสู่การฟอกเขียวหรือไม่ โลกร้อนได้นโยบายอะไรกับโครงการนี้ รู้สึกเศร้ามากที่รัฐต้องการผลักดัน” นายสุรินทร์กล่าว

น.ส.ร่มฉัตร วชิรรัตนากรกุล เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า จากพันธกรณีอนุสัญญาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ได้กลับกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งผลกระทบอย่างฉับพลันและผลกระทบอย่างช้า เนื่องจากได้ส่งผลกระทบต่อชุมชน อาหาร น้ำ เป็นต้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากกรณีคำป่าหลาย การที่รัฐได้ใช้มาตรการในการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนนั้นกลับกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง การดำเนินการของรัฐการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าตลาดคาร์บอนมักนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน และยังเป็นรูปแบบใหม่ในการล่าอาณานิคม โครงการคาร์บอนเครดิตกรณีการฟอกเขียวนำไปใช้ในภาคธุรกิจนำไปสู่การฟอกเพื่อทำธุรกิจของตัวเองต่อไป

ด้านนายชลธิศ สุรัสวดี อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาที่ดินทำกิน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ย้ำตลอดต้องลดความเหลื่อมล้ำทุกมิติ ที่ผ่านมามีการหารือกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่ดินทำกิน โดยกรณี คำป่าหลาย เป็นเรื่องหนึ่งที่พีมูฟพูดถึง เรื่องการสร้างกังหันลม มีคำถามว่ามีการอนุญาตให้สร้างได้อย่างไร เราสอบถามไปได้คำตอบว่า ได้รับการยินยอมจากผู้นำชุมชนแล้ว แต่หากชาวบ้านในพื้นที่เห็นแย้ง ก็สามารถทำเรื่องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดได้ ซึ่งเรื่องนี้จะมีการพูดคุยหารือเพื่อหาทางออกวันที่ 13 มี.ค.นี้ 

“หากการสร้างกังหันลม เป็นการละเมิดสิทธิชุมชน หากพบว่า การให้การยินยอมจากผู้นำชุมชน เป็นรายงานเท็จ เราสามารถยกเลิกโครงการได้ พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบเจ้าหน้าที่ ที่เสนอรายงานเท็จนี้ ยืนยันว่า ในรัฐบาลเพื่อไทย จะไม่มีการแย่งยึดที่ดิน เหมือนในอดีตที่ผ่านมาแน่นอน”  ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยกล่าว.