เมื่อวันที่ 3 มี.ค. เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมรัตนแกรนด์บอลรูม โรงแรมรัตนชล อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าของไทยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้งที่ 4 พร้อมบรรยายพิเศษ “พระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้า” โดยมี นางสาวฐิติลักษณ์ คำพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางนิภาพร แพภิรมย์รัตน์ รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดชลบุรี ดร.ศรินดา จามรมาน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ นายศิริชัย ทหรานนท์ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ดร.กรกลด คำสุข ดร.กิติศักดิ์ เยาวนานนท์ นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ดร.ฐิศิรักน์ โปตะวณิช คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมถึงผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย Young OTOP และผู้ที่สนใจพัฒนาและต่อยอดภูมิปัญญาด้านผ้าไทย รวมกว่า 200 คน ร่วมในงาน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าของไทยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา นี้ เป็นโครงการที่เปิดพื้นที่ เปิดเวทีให้กับพี่ ๆ น้อง ๆ ผู้เป็นอนาคตของชาติ ผู้มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทย มาทำให้เกิดสิ่งที่ดีต่อชีวิต และยังเป็นการถวายกำลังใจแด่พระองค์ท่านผู้ทรงมีพระปณิธานมุ่งมั่นแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดงานหัตถกรรมและภูมิปัญญาของคนไทย ด้วยทรงเป็นลูกหลานที่มีพระกตเวทิตาคุณ โดยทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสนองพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา และต่อยอด” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทย ทรงรื้อฟื้นคืนชีวิตผ้าไทยให้มีลมหายใจเมื่อ 50 ปีก่อน และพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยการนำเอาความรู้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย และเครื่องแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของความเป็นไทย มาต่อยอดให้มีความทันสมัย

“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเปรียบเสมือนเป็นขุนพล “ทหารเอกของชาติ” ในการช่วยทำให้สิ่งดี ๆ อันเป็นอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย ที่จะส่งเสริมความมั่นคงของชาติให้คงอยู่ ด้วยพระอัจฉริยภาพ อันสอดคล้องกับพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันแน่วแน่ที่ทรงอยากเห็นคนไทยมีความสุข ดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งการที่ประเทศชาติจะมีความมั่นคง ประชาชนจะมีความสุข เราจะต้องช่วยกันแก้ไขในสิ่งที่ผิด ดังที่พระองค์ได้เสด็จไปทรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อช่วยผ่าทางตันผ้าไทย ในด้านการออกแบบลวดลาย รูปลักษณ์ บรรจุภัณฑ์ และพระราชทานพระดำรัสมากมายเกี่ยวกับการพัฒนาผ้าไทย จากที่เมื่อก่อนนั้นผ้าไทยไม่ค่อยมีความหลากหลาย มีแต่ลวดลายแบบเดิม สีเข้ม ๆ ยิ่งเมื่อดูรูปแบบของการตัดเย็บก็ยิ่งแล้วใหญ่ เชย ไม่น่าสวมใส่ ไม่ทันสมัย โดยเมื่อพระองค์พระราชทานแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และพระราชทานลวดลายผ้าแบบต่าง ๆ ทำให้เกิดความตื่นตัว เกิดกระแสการอยากสวมใส่ผ้าไทยที่เพิ่มพูนขึ้น และด้วยพระวิสัยทัศน์ที่ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน จึงได้พระราชทาน “คณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก” เป็นคณะที่เปรียบเสมือนวิชชาลัยผ้าเคลื่อนที่ คล้าย ๆ กับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ลงไป coaching ลงไปใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับช่างทอผ้าทั่วประเทศ เพื่อหนุนเสริมองค์ความรู้และทักษะการผลิตผ้าที่จะทำให้เกิดการสร้างรายได้ที่เพิ่มพูน และมีคุณภาพงานที่ได้มาตรฐานขึ้น ทั้งนี้ ด้วยพระอัจฉริยภาพ จึงได้ทรงเป็นบรรณาธิการหนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK ที่เป็นคู่มือถ่ายทอดรูปแบบแนวทางให้กับประชาชนผู้ประกอบการกลุ่มทอผ้า และเยาวชน ได้ยกระดับงานผลิตภัณฑ์จากการทำงานหัตถศิลป์หัตถกรรม ทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยมีความหลากหลาย สามารถสวมใส่ได้ในทุกวันและทุกโอกาส ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า อีกด้วย โดยกระทรวงมหาดไทยได้รวบรวมจัดทำเป็นหนังสือเฉลิมพระเกียรติในรูปแบบ E-Book ทาง https://www.thailandotop.org/rachanaree-flipbook และยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของวงจรผ้าไทย จึงพระราชทานพระดำริ Sustainable Fashion “แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” เพื่อให้พวกเราตระหนักและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งการผลิตผ้าโดยใช้สีธรรมชาติ การพึ่งพาตนเอง ด้วยการปลูกไม้ให้สีธรรมชาติ จนกระทั่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้ยกย่องพระองค์เป็นเจ้าหญิงผู้ทรงคำนึงถึงแนวทางแห่งความยั่งยืน สำนึกในพระกรุณาคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จึงเป็นที่มาของการเชิญคณะผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นั่นคือ คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ในพระดำริฯ ผู้ที่ทำให้ทั่วโลกได้ยลโฉมผ้าไทยรูปแบบต่าง ๆ ผ่านการนำเสนอขึ้นเวที “Cat walk” ระดับโลก เพื่อมุ่งขยายฐานลูกค้าผ้าไทยให้กว้างไกล ก่อให้เกิดความยั่งยืนในขั้นต้น มาก่อให้เกิด “ความยั่งยืนในขั้นสุดท้าย”