นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และกรมปศุสัตว์ จัดรณรงค์ให้ผู้บริโภคช่วยบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยพยุงราคาเนื้อหมูให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากขณะนี้ ผลผลิตหมูมีชีวิต มีปริมาณเกินความต้องการจากปกติ โดยปัจจุบันมีหมูออกสู่ตลาด 5.8 หมื่นตัว มากกว่าความต้องการบริโภคเฉลี่ยวันละ 5 หมื่นตัว ทำให้มีหมูส่วนเกิน 8 พันตัว จึงต้องหาทางเร่งระบายผลผลิตส่วนเกิน

“แม้ว่าในส่วนของกรมปศุสัตว์ จะเร่งแก้ปัญหาตัดวงจรหมูด้วยการผลักดันให้ทำหมูหันไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่กรมฯ ก็ได้รณรงค์ขอให้บริโภคเนื้อหมูเพิ่ม พร้อมขอความร่วมมือไปยังห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ให้งดการจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าเนื้อสุกรในช่วงนี้ เพราะราคาเนื้อหมูถูกอยู่แล้ว โดยราคาเฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ กก. ละ 130 บาท และหากมีการนำเนื้อหมูมาจัดโปรโมชั่น เกรงว่าจะไปกดราคารับซื้อหมู และกระทบกับเกษตรกร”

สำหรับสถานการณ์ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม ปัจจุบันอยู่ที่ กก.ละ 67-68 บาท ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยง ยังคงขายได้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินว่าอยู่ที่ กก.ละ 72 บาท ซึ่งการตัดวงจรหมู จะช่วยดึงราคาให้สูงขึ้น และกรมฯ ยังจะเข้าไปช่วยดูแลในด้านต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะราคาอาหารสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมฯ ได้หารือกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เพื่อติดตามราคา และสถานการณ์วัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตอาหารสัตว์ต่อเนื่อง โดยพบว่าแนวโน้มราคาปรับลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบที่ถูกลง โดยขณะนี้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กก.ละ 10.26 บาท ลดลงจากปีที่แล้วที่ 12.67 บาท กากถั่วเหลือง เฉลี่ย ม.ค.-ก.พ. 67 กก.ละ 13.92 บาท ลดลงจากปีก่อน 16.84 บาท ข้าวสาลี กก.ละ 7.74 บาท ลดลงจากปีก่อนที่ 8.23 บาท ปลาป่น กก.ละ 32 บาท ลดลงจากปีก่อนที่ 36.61 บาท

“กรมฯ จะติดตามสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างใกล้ชิด หากปรับลดลงต่อเนื่อง ก็จะคุยกับผู้ผลิตให้ปรับลดราคาลงมาอีก ซึ่งเท่าที่ติดตามดูราคาข้าวโพดค่อนข้างทรงตัว ข้าวสาลีลดลง กากถั่วเหลืองลดลง และคาดว่าจะลดลงอีก เพราะอาร์เจนตินาเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกแล้ว ส่วนปลาป่นทรงตัวอยู่สูง แต่ก็ถูกกว่าปีก่อน ขณะที่ราคาอาหารสัตว์ตอนนี้ เทียบกับปีที่แล้ว พบว่ามีการทยอยปรับลดราคาลงมาแล้ว ส่วนโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ในการลดต้นทุนราคาอาหารสัตว์ จากการเชื่อมโยงเกษตรกรผู้เลี้ยงกับโรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งได้ดำเนินการไปเมื่อปีที่แล้ว หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร มีความต้องการ ก็พร้อมที่จะทำการเชื่อมโยงให้ต่อไป”