จากกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาคดี อม.2/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 6 ราย ในคดีจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์โดยมิชอบ โดยศาลได้มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ยกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และจำเลยทั้งหมด พร้อมถอนหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่หลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมนนาทางวิชาการ เรื่อง “แนวทางในการพิจารณาวินิจฉัยคดีตรวจสอบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายยาเสพติด” พร้อมด้วย พล.ต.อ.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. โดยเป็นการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน และคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินภาค ซึ่งกำกับดูแลการดำเนินการของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่ได้รับมอบหมาย ให้เป็นไปในมาตรฐานและทิศทางเดียวกัน

โดย พ.ต.อ.ทวี รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า สำหรับกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตนขอเรียนว่ายังไม่ได้มีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคล และเมื่อถามว่าในครั้งที่แล้วมีเพียงนายทักษิณ ชินวัตร รายเดียวใช่หรือไม่ที่ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคล พ.ต.อ.ทวี แจงว่า การขออภัยโทษรายบุคคล สามารถดำเนินการโดยตรงได้เลย แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะต้องมีการส่งเรื่องมาที่กระทรวงยุติธรรม แต่ยืนยันว่า ณ ตอนนี้ตนยังไม่ได้รับเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคลก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลที่แล้ว ดำเนินการโดยนายวิษณุ เครืองาม ตามที่นายวิษณุได้ออกมาให้สัมภาษณ์ ทั้งนี้หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางกลับมายังประเทศไทย และประสงค์ขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคล ก็สามารถยื่นเรื่องโดยตรงกับกระทรวงยุติธรรมได้ แต่ในกรณีอื่น ๆ กรมราชทัณฑ์ก็จะมีการส่งเรื่องมาให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาอยู่แล้วเป็นปกติ

พ.ต.อ.ทวี ยังขอปฏิเสธการตอบคำถามถึงกระบวนการการรับตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ หากภายในปีนี้ (2567) เจ้าตัวจะเดินทางกลับเข้าประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่า ส่วนใหญ่ตนจะไม่ตอบคำถามสมมุติ

เมื่อถามถึงประเด็นที่ถ้าหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อาจจะเป็นเหมือนทักษิณโมเดลหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี แจงว่า เราไม่ได้ติดตามในเรื่องนี้ เพราะกรมราชทัณฑ์มีกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย นอกจากนี้ สำหรับความคืบหน้าในเรื่องของการจัดทำระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ ล่าสุดตนได้รับรายงานว่า คณะทำงานยังคงมีการประชุมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อดูในส่วนของรายละเอียดให้ครบถ้วนรอบด้านว่าจะมีผู้ต้องขังรายคดีใดบ้างที่มีเกณฑ์ได้รับการพิจารณาให้คุมขังยังสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำฯ และจะต้องมีกิจวัตรประจำวันอย่างไรบ้าง ซึ่งอาจจะใช้เวลาสักระยะเพื่อจัดทำระเบียบให้เหมาะสมกับผู้ต้องราชทัณฑ์ทุกราย เพราะตนยังยืนยันว่าระเบียบดังกล่าวที่ประกาศลงนามไม่ได้มีไว้เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง.