เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก นายอภิชาต ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการ การที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร สส.พรรคก้าวไกล พร้อมคณะสมาชิสภาผู้แทนราษฎร เข้าตรวจสอบพื้นที่ข้อพิพาทจุดปักหมุด ส.ป.ก.4-01 บริเวณบ้านเหวปลากั้ง หมู่ 10 เขาใหญ่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จุดที่ 1 มีผู้บุกรุกนำรถไถและรถแบ๊กโฮเข้าไปไถและขุดนำต้นไม้เข้าไปปลูกในพื้นที่ และถูก นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ นำเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม 5 ราย โดยผู้ที่ถูกจับกุม นำเอกสาร ส.ป.ก.4-01 มาอ้างว่ามาทำตามเอกสารและตามหลักหมุด ส.ป.ก.4-01 รวมทั้งเป็นพื้นที่จัดวางแปลง ส.ป.ก.จังหวัดนครราชสีมา กว่า 72 แปลง พื้นที่กว่า 2,933 ไร่ ตามระวางและแผนผังของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดนครราชสีมา

ซึ่งเป็นที่มาทำให้ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช นำชุดพญาเสือเข้าตรวจสอบ และถอนหมุดออกบริเวณเหวปลากั้งออกรวม 27 หมุดออก และนำไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน ที่ตำรวจ สภ.หมูสี เอาไว้นั้น

นายอภิชาต ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดินฯ กล่าวว่า จากการนำคณะกรรมาธิการรัฐสภาลงดูพื้นที่จริงที่เขาใหญ่ และยังตั้งข้อสังเกตว่า ในเมื่อพื้นที่ยังมีข้อพิพาทระว่างแนวเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ กับ สำนักงานปฏิรูปที่ดินฯ นครราชสีมา ทราบว่าหัวหน้าเขาใหญ่ได้ทำหนังสือคัดค้านไป 2 ครั้ง แต่ ส.ป.ก. ก็ตอบมา 2 ครั้ง แต่ตอบไม่ตรงกันแต่ละครั้ง ซึ่งก่อนปี พ.ศ. 2564 ระเบียบมีคณะกรรมการประกอบกันหลายฝ่าย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานพิจารณา พอปี 2564 ไปแก้ระเบียบ ให้อำนาจ ส.ป.ก. จังหวัด มีอำนาจพิจาณาออก ส.ป.ก. เอง ซึ่งจะทำให้มีช่องโหว่มาก ก็จะทำให้มีปัญหาการออก ส.ป.ก. ทั่วประเทศ เพราะฉะนั้น ส.ป.ก. ต้องไปทำฐานข้อมูลให้ละเอียดก่อนว่า คนที่จะได้รับเอกสารทำประโยชน์เกษตรกรรม เป็นชาวบ้านจริง ถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และปักหลักหมุด ส.ป.ก. ในพื้นที่ป่าสมบูรณ์ บนภูเขาที่มีความสูงชันเกิน 35 องศา ส่วนที่เขาใหญ่ต้องรอดูคณะกรรมการทำวันแม็พ ขอบเขต คาดอีก 2 เดือนน่าจะเสร็จ คาดว่าทุกคนคงรับได้ โดยในวันนี้ 5 มี.ค. นี้ คณะกรรมาธิการที่ดินฯ สภา ยังหาข้อมูลอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา

ด้าน นายสาโรจน์ ประพันธ์ อดีต ผอ.ส่วนป้องกันปราบปราม สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) กลุ่มเพื่อเขาใหญ่ ในกลุ่มอนุรักษ์ 23 องค์กร กล่าวว่า ตนเอง เป็น 1 ในคณะกรรมการจัดทำถนนแนวเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ ด้านอำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา ร่วมกับชุมชน ปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุมชนติดแนวเขต อุทยานฯ เขาใหญ่ เมื่อครั้งมีตำแหน่ง ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในปี พ.ศ. 2540 คัดถนนระหว่างพื้นที่ของประชาชน กับพื้นที่ของอุทยานฯ เขาใหญ่ เพื่อให้ชัดเจนใช้เป็นถนนตรวจการณ์ ถนนแนวกันไฟ และเพื่อป้องกันการบุกรุก พื้นที่ป่าเขาใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมากว่า 16 ปี ในการปฏิบัติหน้าที่ ประชาชนที่อยู่ใกล้แนวเขตไม่มีใครมาบุกรุก ส่วนการออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นการขัดต่อระเบียบกฎหมาย และสามัญสำนึก การออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ ตามระเบียบ 7 ลักษณะ คือ พื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่า พื้นที่ ที่มีศักยภาพทำเกษตรไม่คุ้มค่า, พื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ, พื้นที่ภูเขาสูงชัน, พื้นที่ต้นน้ำลำธาร, พื้นที่มีภาระผูกพัน, ป่าชายเลน เป็นต้น โดยส่วนตัวมองว่าอาจจะมีกลุ่มนายทุน และนายทุนการเมืองอยู่เบื้องหลังก็เป็นไปได้

นายสาโรจน์ กล่าวต่อว่า กลุ่มอนุรักษ์ 7 องค์กร กำลังมีแนวคิดว่าจะทำให้จุดมีข้อพิพาท ออก ส.ป.ก. เป็นจุดเช็กอินให้นักท่องเที่ยวเข้าไปดูสถานที่บุกรุก ถ่ายภาพ และรับทราบด้วยตนเอง ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า จะสามารถทำเป็นพื้นที่เกษตรกรรมได้หรือไม่

ส่วนความคืบหน้าคดีที่ รองเลขาฯ ส.ป.ก. แจ้งความเอาผิด นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรณีถอนหมุด ส.ป.ก. เมื่อวานก่อน พ.ต.ต.ประยงค์ หวังกุลกลาง สว.(สอบสวน) สภ.หมูสี อ.ปากช่อง กล่าวว่า ยังรอเอกสารจากอุทยานฯ เขาใหญ่ บางส่วนมาประกอบ และจะส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช. ให้พิจารณา ว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลหรือเป็นเรื่องปฏิบัติตามหน้าที่ หาก ป.ป.ช. ชี้ว่าเป็นเรื่องเดียวกันที่ นายชัยวัฒน์ เคยแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ในวันที่ทำการถอนหมุดออก เพื่อจะได้ดำเนินการเชิญนายชัยวัฒน์ ให้ปากคำ ตามความเห็นของ ป.ป.ช. ต่อไป.