เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ The Athenee Hotel, a Luxury Collection Hotel แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์”, “ผ้าลายชบาปัตตานี” และเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับกรม หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย คณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย คณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นางศรินดา จามรมาน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ ISSUE กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน ร่วมพิธี

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ เปิดกรวยถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระรูป สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และกล่าวสำนึกในพระกรุณาธิคุณ โดยกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้อุทิศพระองค์ปฏิบัติบำเพ็ญพระกรณียกิจนานัปการ เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไปด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทย

“นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดโครงการ Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พระราชทานเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” แก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ ที่สร้างสรรค์ผืนผ้าและหัตถกรรม ด้วยขั้นตอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้สร้างสรรค์และผู้สวมใส่ ซึ่งเป็นการรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานสากล และเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2567 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ณ แหล่งสมาคมนายทหารสัญญาบัตร กองบัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายชบาปัตตานี” เพื่อเป็นของขวัญแก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต ผู้ประกอบการชาวจังหวัดปัตตานี เพื่อสร้างอัตลักษณ์ สืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทย” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า อีกทั้งเมื่อวันที่ 22 ก.พ. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าทอแบบโบราณ ณ บ้านคำปุน ตำบลคำน้ำแขบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” ซึ่งเป็นลายที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทานเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 28 ก.ค. 2567 โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว ประเภทผ้ายก จก บิด แพรวา ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลัก ทั้ง 4 ประเภทนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ต่อไป

“กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ดำเนินการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ไปยังทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง ยังผลให้ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต ผู้ประกอบการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยสำนึกในพระกรุณาคุณที่ทรงมีต่อเหล่าปวงชนชาวไทย ปวงข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมนำแนวพระดำริในการเพิ่มคุณค่า และมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน อันเป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทยและสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายสุทธิพงษ์ ได้กล่าวมอบแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ให้กับผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด ว่า “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” นับเป็นชื่อที่มีความหมายทรงคุณค่า ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดที่เราจะได้น้อมนำไปเผยแพร่ ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ทรงห่วงใยประชาชนและได้ออกแบบลายผ้าพระราชทานให้กับผู้ประกอบการกลุ่มทอผ้า ซึ่งมีความหมายแสดงออกอย่างชัดเจนว่าพระองค์ท่าน และพสกนิกรไทยทุกจังหวัดมีความจงรักภักดี และมีจิตใจที่มุ่งมาดปรารถนาที่จะถวายพระพรชัยมงคล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567 ซึ่งการถวายพระพรชัยมงคลที่ทรงคุณค่ายิ่ง คือ การที่ทุกคนได้สนองพระราชปณิธานที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงรับเป็นธุระในการแบ่งเบาพระราชภาระ ดังพระราชปณิธาน

“ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานให้ข้าราชบริพาร เมื่อ พ.ศ. 2563 ซึ่งนอกจากพระองค์จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แล้ว ยังเป็นการช่วยสนองพระราชปณิธานอันแรงกล้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอยากเห็น ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระประสงค์และความปรารถนาอันแรงกล้า โดยใช้งานหัตถศิลป์และภูมิปัญญาไทยอันก่อให้เกิดรายได้และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้พี่น้องประชาชน นำมาซึ่งความสุข ซึ่งการที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงและประชาชนมีความสุขได้ พวกเราชาวมหาดไทย สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ จึงมีความสำคัญในความสำเร็จและความล้มเหลว หากพวกเราทุกคนน้อมสำนึกในพระกรุณาคุณและสนองพระราชปณิธาน น้อมนำเอาสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่าผ้าไทยเป็นสิ่งที่จะสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนได้ เราทุกคนจึงโชคดีที่ท่านพระองค์หญิงทรงรับเป็นธุระแบ่งเบาพระราชภาระ ขับเคลื่อนการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทั้งหมดจะเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่ความสุข และลดความทุกข์

“ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานพระราชดำริ โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ก่อให้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นมากมายต่อพี่น้องประชาชน ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนสู่กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP กว่า 2 แสนล้านบาท จึงขอให้พวกเราทุกคนได้ช่วยกันเป็นตัวแทนพระองค์ จัดพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์”, “ผ้าลายชบาปัตตานี” และเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” ของจังหวัด ตามความเหมาะสม รวมถึงเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิธี พร้อมจัดทำนิทรรศการให้ความรู้ ส่งเสริมช่องทางการตลาดและการจัดจำหน่าย รวมถึงเชิญผู้ที่ประสงค์จะจับจ่ายใช้สอยงานจากภูมิปัญญาไทย ตลอดจนเชิญสื่อมวลชนทั้งสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์บันทึกภาพเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ พร้อมรายงานมายังกระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยกันเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทำให้คนในสังคมได้รับรู้รับทราบ และอยากเป็นเจ้าของงานที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทย ซึ่งการเผยแพร่ที่สำคัญ คือ การสวมใส่ผ้าไทย อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะทำให้ผ้าไทยอยู่อย่างนิรันดร์ เป็นอมตะ และเป็นที่นิยม คือ การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่พระองค์ท่านทรงน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ นั่นคือ “แฟชั่นยั่งยืน (Sustainable Fashion)” ที่มุ่งเน้นไปทางผลิตภัณฑ์ และ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ที่มุ่งเน้นองค์รวมของชีวิตคน ซึ่งทั้งสองเป็นเรื่องเดียวกัน ล้วนแล้วแต่คำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) บนพื้นฐานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่นเดียวกับลายผ้าพระราชทาน ที่ผู้นำทุกท่านต้องเอาจริงเอาจังเอาใจใส่ผลักดันขับเคลื่อนในพื้นที่อย่างเต็มที่ สำหรับกระทรวงมหาดไทยในส่วนกลาง จะได้จัดทำเว็บไซต์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อเป็นที่ชุมนุมของผู้ประกอบการ OTOP และศิลปาชีพ ที่ได้รับการคัดเลือกว่าเป็น “Sustainable Fashion” ซึ่งจะช่วยขยายตลาดไปสู่สากล โดยการจัดทำแท็กจะใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ท้ายนี้ เราทุกคนมีความมุ่งมาดปรารถนาจะนำเอาสิ่งที่ดีมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน และทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567 ร่วมกัน เพื่อเป้าหมายของภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น และขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่ได้ร่วมทำงานสนองคุณแผ่นดินไปด้วยกัน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว