เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่สำนักงานศาลปกครอง นายประวิตร บุญเทียม ประธานแผนกคดีละเมิดและความรับผิดอย่างอื่นในชั้นปกครองสูงสุด ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งรองประธานศาลปกครองสูงสุด แถลงผลการทำงานครบรอบ 23 ปี ศาลปกครอง ว่า ภาพรวมการพิจารณาคดีของศาลปกครอง ตลอด 23 ปี จนถึงวันที่ 29 ก.พ. 2567 มีคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลปกครองจำนวน 212,196 คดี แบ่งเป็นคดีที่เข้าสู่ศาลปกครองชั้นต้น 148,955 คดี คดีอุทธรณ์ หรือฟ้องตรงต่อศาลปกครองสูงสุด จำนวน 63,241 คดี โดยคดีที่มีการยื่นฟ้องสูงสุดคือ การบริหารงานบุคคล วินัย การพัสดุ สัญญาทางปกครอง คดีละเมิดและความรับผิดอย่างอื่น ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามหน่วยงานที่เป็นผู้ถูกฟ้องคดีมากสุดคือ กระทรวงมหาดไทย รวม 45,790 คดี กทม. 7,655 คดี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 4,721 คดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 4,575 คดี กระทรวงคมนาคม 4,198 คดี  

ทั้งนี้ พิจาณาแล้วเสร็จจำนวน 184,757 คดี คิดเป็น 87% ของคดีที่รับเข้า แบ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้น จำนวน 132,264 คดี คิดเป็น 89% ส่วนศาลปกครองสูงสุด จำนวน 52,493 คดี คิดเป็น 83% ขณะที่คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา จำนวน 27,439 คดี แบ่งเป็นในชั้นศาลปกครองชั้นต้น 16,691 คดี และศาลปกครองสูงสุด 10,748 คดี ในปี 2566 มีคดีที่พิจารณาแล้วเสร็จ 12,637 คดี แบ่งเป็นศาลปกครองสูงสุด 4,789 คดี ซึ่งแล้วเสร็จมากกว่าคดีที่รับเข้า และศาลปกครองชั้นต้น สามารถพิจาณาเสร็จ 3,153 คดี  

ส่วนคดีที่เข้าสู่การยื่นฟ้องผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสองศาล จำนวน 9,300 คดี และพิจารณาแล้วเสร็จจำนวน 5,028 คดี โดยศาลปกครองตั้งเป้าพัฒนาศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ให้เต็มรูปแบบ โดยเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2570 ศาลปกครองจะเป็นระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Admincout และมีมาตรฐานเป็นสากล โดยจัดทำแผนพัฒนาดิจิทัล พ.ศ. 2566-2570 ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงควมยุติธรรมทางศาลปกครองได้สะดวกผ่านทางเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมีแพลตฟอร์มบริการกลาง เชื่อมโยงระบบคดีปกครอง ในการจัดการคดี มีมาตรการในการป้องกันและช่วยลดการเกิดข้อพิพาทของหน่วยงานทางปกครอง  

“เราออกแบบมาให้ฟ้องได้ตั้งแต่ต้น จนถึงศาลสูงโดยไม่ต้องออกจากบ้าน ข้อสำคัญคือให้เปิดดูด้วย ไม่ใช่ฟ้องแล้วปิดเครื่องนอน และไม่มีข้อจำกัดของคดีที่สามารถฟ้องร้อง แต่ต้องแสดงตัวตน และเลขบัตรประชชน ส่วนจะทำได้รวดเร็วขึ้นหรือไม่นั้น คิดว่าจะเร็วขึ้น เพราะกดส่งปุ๊บถึงปั๊บ ลดค่าใช้จ่าย อยู่ที่ว่าจะมีการเปิดอ่านเมื่อไหร่เท่านั้น รวมถึงศาลจะได้ลดเวลาร่าง และพิมพ์ใหม่ ยกเว้นการร่างคำพิพากษาที่อาจจะต้องใช้เวลา”  

นอกจากนี้ นับตั้งแต่ศาลได้นำระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครองทั่วประเทศ ตั้งแต่ ก.ย. 2562 ถึง ก.พ. 2567 มีคดีเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศาลปกครองชั้นต้น จำนวน 735 คดี ไกล่เกลี่ยเสร็จ 672 คดี คิดเป็น 91% ของคดีที่เข้าสู่การไกล่เกลี่ย โดยที่มีการไกล่เกี่ยมากที่สุดคือ คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ทั้งนี้ ปี 2567 มีแผนพัฒนาระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาท 2 ส่วน คือกรณีประชาชน หรือคู่กรณีต้องการเริ่มกระบวนการไกล่เกลี่ย ให้เริ่มยื่นผ่านคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกที่ทุกเวลา และพัฒนาระบบศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับกระบวนการอำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรศาลปกครอง.