เมื่อวันที่ 7 มี.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการติดตามคุณภาพอากาศ เพื่อบริหารจัดการฝุ่น PM 2.5 โดยกองสาธารณสุขฉุกเฉิน พบว่า วันนี้หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ภาพรวมมีถึง 41 จังหวัด ที่มีค่าฝุ่นเฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมงเกินมาตรฐาน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) โดยมีจังหวัดที่ค่าฝุ่นสีแดง หรือเกิน 75 มคก./ลบ.ม. ซึ่งอยู่ระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 15 จังหวัด ในจำนวนนี้ มีค่าฝุ่นเกิน 100 มคก./ลบ.ม. 9 จังหวัด ได้แก่ 1. แม่ฮ่องสอน 196.1 มคก./ลบ.ม. 2. ลำปาง 173.9 มคก./ลบ.ม. 3. ลำพูน 137.1 มคก./ลบ.ม. 4.เลย 136 มคก./ลบ.ม. 5. สุโขทัย 132.5 มคก./ลบ.ม. 6. แพร่ 127.4 มคก./ลบ.ม. 7.เชียงใหม่ 125.4 มคก./ลบ.ม. 8. นครพนม 119.1 มคก./ลบ.ม. และ 9. เชียงราย 106.2 มคก./ลบ.ม. ทั้งนี้ คาดการณ์คุณภาพอากาศในช่วง 1-2 วันข้างหน้า ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ ขณะนี้ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว 38 จังหวัด

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพข้อมูลตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566-ปัจจุบัน มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยนอก 41,889 ราย เข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน 8,001 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง กลุ่มโรคผิวหนัง โรคหอบหืด กลุ่มโรคตาอักเสบ เป็นต้น ส่วนการจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีการเปิดคลินิกมลพิษและจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นรวม 41 จังหวัด แบ่งเป็น คลินิกมลพิษ 142 แห่ง คลินิกมลพิษออนไลน์ 122 แห่ง เปิดห้องปลอดฝุ่น 4,091 ห้อง ดูแลประชาชนแล้ว 92,047 ราย โดยหน่วยงานในพื้นที่ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แจกหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชน เพื่อช่วยลดผลกระทบทางด้านสุขภาพ เช่น ที่แม่ฮ่องสอน ได้แจกหน้ากากอนามัย 8,284 ชิ้น และหน้ากาก N95 อีก 837 ชิ้น

ทั้งนี้ ได้กำชับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งให้สื่อสารถึงประชาชนในการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพ โดยติดตามค่าฝุ่นเป็นประจำทุกวันและปฏิบัติตัวตามระดับค่าสีฝุ่น โดยเฉพาะเมื่อค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีแดง ย้ำกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ให้งดกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกัน และอยู่ในห้องปลอดฝุ่น หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์.