นายพิเชฐ อิฐกอ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาเด็กติดจอ เป็นปัญหาที่เกิดจากการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เหมาะสมกับช่วงวัย ซึ่งอาจทำให้เด็กมีปัญหาด้านพัฒนาการด้านร่างกาย เด็กบางรายอาจเลือกไม่กินอาหารเลย หรือกลายเป็นเด็กติดเก้าอี้ ซึ่งจะทำให้เด็กเสียโอกาสเสริมสร้างพัฒนาการอย่างมาก ฉะนั้นผู้ปกครองควรให้ความใส่ใจในเรื่องโภชนาการ

ทั้งนี้ จากผลการวิจัยของทางสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก ที่สำรวจคุณแม่ที่มีลูก อายุ 1-3 ขวบ พบว่าปัญหาที่คุณแม่มีความกังวลใจเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกนอกจากเรื่องโภชนาการแล้ว ความกังวลใจ 5 อันดับแรกได้แก่ ปัญหาเด็กป่วยบ่อย 20% ปัญหาเด็กติดจอ 24% ปัญหาการควบคุมอารมณ์ 25% ปัญหาเด็กนอนยาก 37% และปัญหาเด็กงอแง ร้องไห้มาก 44% ซึ่งปัญหาเหล่านี้ อาจมีส่วนเกี่ยวพันกับปัญหาเด็กติดจอ โดยเฉพาะปัญหาการควบคุมอารมณ์ เด็กป่วยบ่อย และปัญหาเด็กนอนยาก ที่พบปัญหาในอัตราใกล้เคียงกัน

ซึ่งผลการสำรวจนี้สอดคล้องกับงานวิจัยในเรื่อง “ผลของเวลาหน้าจอที่มีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต และพฤติกรรมการกินในช่วงล็อกดาวน์ จากสถานการณ์โควิด-19 ในเลบานอน” ซึ่งทำการสำรวจเด็กชาวเลบานอน ที่ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงล็อกดาวน์ในเรื่องสุขภาพจิต คุณภาพการนอนหลับ ค่าดัชนีมวลกาย และพฤติกรรมการกิน พบว่า จากผลกระทบของการใช้เวลาอยู่หน้าจอระหว่างช่วงเวลาล็อกดาวน์ ของเด็กชาวเลบานอนอายุ 3-7 ขวบ

ในการศึกษานี้พบว่า เด็กใช้เวลาอยู่เวลาหน้าจอมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน มีภาวะโรคอ้วน มีปัญหาการนอนหลับ อาการซึมเศร้า และอุปนิสัยการกินอาหารที่ไม่ดี เช่น การรับประทานอาหารขณะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และมักจะเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ สูงกว่าเด็กที่อยู่หน้าจอน้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ทั้งนี้ จึงแนะนำว่าเด็กอายุระหว่าง 2-5 ขวบ สามารถเริ่มมีเวลาดูหน้าจอที่ไม่ใช่เพื่อการศึกษาเพื่อความบันเทิงนอกเหนือจากการเรียนได้ แต่ควรจำกัดไว้เพียง 1 ชั่วโมงต่อวันธรรมดา และ 3 ชั่วโมงในวันหยุดสุดสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองควรระวังไม่ให้พฤติกรรมการใช้งานหน้าจอเหล่านี้ รบกวนความสัมพันธ์ทางสังคมและความรับผิดชอบของพวกเขา

นายพิเชฐ กล่าวว่า ปัญหาเด็กติดจอ เป็นปัญหาที่เกิดจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง ฉะนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ ผู้ปกครองควรศึกษาใส่ใจด้านโภชนาการที่ดีสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัย ควรหากิจกรรม ให้เด็กได้เล่น เช่น วาดภาพ เล่นกีฬา หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสมตามช่วงวัยของเขา

โดยเฉพาะเด็กในช่วงวัย 1-2 ขวบ ที่ยังอยู่ในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิต ซึ่งหมายถึงเด็กตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนถึงอายุ 2 ขวบ เป็นช่วงที่โครงสร้างสมองมีการพัฒนาสูงสุด การเจริญเติบโตด้านร่างกายในช่วงเวลานี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าช่วงวัยอื่น จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่าโภชนาการในช่วง 1,000 วันแรกของชีวิตมีความสำคัญมากถึงร้อยละ 80 ต่อการกำหนดภาวะสุขภาพของเด็กคนนั้นไปตลอดชีวิต

ดังนั้น ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญในเรื่องโภชนาการ เพราะเด็กในช่วงวัยนี้จะมีพัฒนาการด้านร่างกายที่ดีต้องได้รับโภชนาการที่ดี และเด็กไม่สามารถหาอาหารกินเองได้ ต้องได้รับการจัดอาหารที่มีประโยชน์ และควรให้เด็กดื่มนมอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารที่สำคัญต่อการเสริมสร้างสมอง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือรูปแบบการเลี้ยงดูไม่ให้กลายเป็นเด็กติดจอ ด้วยการหากิจกรรมที่มีประโยชน์ อย่าให้ 1,000 วันแรกของชีวิตที่มีค่าของพวกเขาต้องเสียเปล่า เพื่อให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีสุขภาพที่ดีไปตลอดชีวิต