นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการส่งเสริมอาชีพแรงงานนอกระบบ เพื่อลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน พร้อมมอบนโยบาย และสอบถามปัญหาที่เกิดจากการพลัดถิ่น เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาของนักเรียน/ผู้ปกครอง ณ โรงเรียนบ้านตูม จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา​ โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เกียรติมาเป็นประธานในการพบปะครูและนักเรียน และมี นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นายสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมคณะมาด้วย และมี ผู้บริหารการศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียนและผู้ปกครอง ร่วมให้การต้อนรับ

นาย​สุรศักดิ์​ กล่าวว่า​ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน โครงการส่งเสริมอาชีพแรงงานนอกระบบ เพื่อลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน ในวันนี้​ ศธ. โดย​ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ​ รมว.ศธ.ได้มอบนโยบายการศึกษา ที่มุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งในด้านโอกาสความเท่าเทียม ความเสมอภาค คุณภาพและสมรรถนะที่สำคัญจำเป็นตามบริบทของประเทศและสังคมโลก โดยเน้นให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” ใช้หลักการ มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วน ภายใต้แนวทาง “จับมือไว้​ แล้วไปด้วยกัน” เพื่อให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ.นำไปใช้ในการขับเคลื่อนนโยบาย ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ 1. พัฒนาวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ​ 2. พัฒนาหลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง โอน ย้ายของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในภูมิลำเนา ที่ตรงกับความประสงค์ของตนเอง เน้นพิจารณาด้วยความโปร่งใสและไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น ​3.แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เห็นผลเป็นรูปธรรม​ และ 4.จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการให้เพียงพอและเหมาะสม

“ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ได้แก่ 1.เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 2. จัดให้มีโรงเรียนคุณภาพ 1 โรงเรียน ต่อ 1 อำเภอ​ 3. พัฒนาระบบการแนะแนวการศึกษา (Coaching) และเป้าหมายชีวิตให้เป็นรูปธรรม​ 4. จัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ 5. จัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา และประเมินผลการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย 6.ผู้เรียน เรียนรู้และมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn)ในส่วนของรัฐบาล ได้มีนโยบายด้านการศึกษาที่จะปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ความสำคัญต่อความมีคุณภาพของครูทั้งประเทศรวมถึงการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของนักเรียนทุกคน ขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารของกระทรวงแรงงาน​ ผู้บริหาร คณะครู เจ้าหน้าที่และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่มาร่วมประชุมติดตามการดำเนินงานฯ ในวันนี้ ขอเป็นกำลังใจให้กับท่านผู้บริหาร คณะครูตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกคนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผมยินดีที่จะสนับสนุนการทำงานของท่านในทุกโอกาส จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” รมช.สุรศักดิ์​ กล่าว