เมื่อวันที่ 13 มี.ค. พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้ติดตามงานนโยบายด้านต่างๆ ของการศึกษา โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการยกระดับผลคะแนนโครงการประเมินนักเรียนระดับนานาชาติ หรือ พิซา ซึ่งตนมั่นใจว่าการสอบพิซาของนักเรียนไทยในปี 2025 จะมีค่าคะแนนเฉลี่ยขยับสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ด้วย เนื่องจากตนรับทราบข้อมูลว่า ผลคะแนนสอบโอเน็ตในปัจจุบัน ไม่ได้ถูกระบุไว้ในใบระเบียนแสดงผลการเรียน หรือ รบ. โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดำเนินการตรวจสอบข้อมูลต่อไป ทั้งนี้ แนวคิดของตนยังกำชับเช่นเดิมว่า การสอบโอเน็ตจะให้เป็นไปตามความสมัครใจ ไม่บังคับนักเรียนให้ไปสอบ ซึ่งใครสมัครใจสอบโอเน็ตให้ระบุไว้ในใบจบการศึกษา แต่ใครไม่สมัครใจก็ไม่ต้องใส่ไว้ในใบจบการศึกษาเช่นเดียวกัน เพื่อทำให้มาตรฐานการศึกษามีความเท่าเทียมกันมากที่สุด

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ของตนพบว่า มีสถานศึกษาหลายแห่งดำเนินการสร้างมาตรฐานของสถานศึกษาได้เป็นอย่างดี ซึ่งตนจะไปดูว่าปัจจัยของการทำให้สถานศึกษามีความสำเร็จได้นั้นมาจากสิ่งใด เช่น ผู้บริหารสถานศึกษา เป็นต้น ดังนั้น จึงอาจต้องปรับวิธีคิดของผู้บริหารสถานศึกษาใหม่ โดยเอารูปแบบสถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จด้านการจัดการเรียนการสอนมาเป็นตัวอย่างให้สถานศึกษาขับเคลื่อน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องของ ศธ. ที่ได้มีการตั้งเรื่องของบประมาณปี 2567 ในการจ้างนักการภารโรงให้ทุกโรงเรียนที่ขาด จำนวน 14,210 อัตรา เป็นเงิน 639,450,000 บาท หรืออัตราละ 9,000 บาทต่อเดือน สามารถเริ่มจ้างได้ในวันที่ 1 พ.ค. 2567 ถึง 30 ก.ย. 2567 นั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 ไม่ได้อนุมัติให้งบประมาณในการจ้างดังกล่าว ซึ่งไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร แต่ก็ไม่ได้เป็นกังวล เพราะขณะนี้ได้จัดทำคำของบประมาณใหม่ โดยจะเสนอของบประมาณกลาง ซึ่งจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเร็วๆ นี้