ด้วยเหตุผลที่ว่าเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ตอนที่ช่วย UN เก็บข้อมูลเรื่อง “อนาคตที่เราต้องการ The Future We Want” นั้นอาจารย์และน้อง ๆ นักศึกษาช่วยกันทำแบบสอบถาม และพูดคุยกันเรื่องความยั่งยืนอย่างกระตือรือร้น ที่นี่เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ active กับกิจกรรมเพื่อสังคม และยังเป็นพันธมิตรที่ทำกิจกรรมร่วมกับเดลินิวส์อย่างต่อเนื่อง

ผลจากการรวบรวมข้อมูล The Future We Want ครั้งนั้น ได้นำไปผนวกกับข้อมูลความต้องการของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก จน UN สามารถประมวลผลออกมาเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 17 ข้อ ที่ใช้ในปี 2016-2030

ตอนเริ่มต้น SDG ใหม่ ๆ ภาคธุรกิจทั่วโลกตอบรับอย่างดี และเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาที่เข้มแข็ง แต่ปัญหาใหญ่ก็คือมหาวิทยาลัยในสมัยนั้น ยังไม่ค่อยได้สอนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืนมากนัก จะพอมีบ้างก็คณะสายสังคม หรือสิ่งแวดล้อม ยังไม่ขยายไปทั่วมหาวิทยาลัย ทำให้นัก CSR ในสมัยนั้น ช่วยกันเข้าไปทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อร่วมคิด ร่วมทำหลักสูตรใหม่ ๆ โดยสร้างความเข้าใจร่วมว่า ความรู้เรื่องความยั่งยืนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงานในอนาคตของนิสิตนักศึกษาทุกคณะ ทั้งนี้ก็ได้ร่วมขับเคลื่อนในระดับนโยบายอีกด้วย จำได้ว่าในช่วงแรก ๆ CSR Club ของตลาดหลักทรัพย์ได้จัดสัมมนาร่วมกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หลายครั้ง เพื่อสร้างความร่วมมือด้านวิชาการ และหานวัตกรรมในการเรียนรู้ใหม่ ๆ เพื่อผลิตบุคลากรที่ทำงานด้านความยั่งยืน

เราใช้เวลาเกือบ 20 ปี เพื่อเดินทางมาถึงจุดที่การสอนเรื่องการเป็นผู้ประกอบการ และการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจ และกลายเป็นหลักสูตรมาตรฐานของทุก ๆ มหาวิทยาลัยไปแล้ว การเรียนชุดวิชานี้นักศึกษาต้องเริ่มจาก 1.ต้องศึกษาให้มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG ทั้ง 17 ข้อ 2.ต้องเรียนรู้ที่จะมองหาปัญหาและ Pain Point ของ SDG แต่ละข้อ เพราะทุกปัญหาจะพาไปสู่โอกาสทางธุรกิจ สำหรับการเป็นผู้ประกอบการได้ 3.พอหา Pain Point ที่นักศึกษาสนใจเจอ ก็เข้าสู่กระบวนการสร้างนวัตกรรมผ่านกระบวนการ Design Thinking ตามตำรามาตรฐาน Empathize, Define, Ideate, Prototype, Test จนไป Story Telling ส่วนผมนั้นมักจะใช้กระบวนการ What is, What if, What wow, และ What work ในสไตล์การสร้างนวัตกรรมของสถาปนิกที่เข้าใจง่ายและสร้างสรรค์กว่า 4.เมื่อได้นวัตกรรมมาแล้ว ก็นำมาพัฒนาต่อยอดเรื่องความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ซึ่งหลาย ๆ แห่งอาจจะใช้เครื่องมือ Lean Canvas หรืออื่น ๆ เมื่อเราได้แผนธุรกิจแล้ว ช่วงสำคัญที่สุดคือ 5. การนำเสนอ หรือที่เราชอบเรียกกันว่า Pitching ที่จริงแล้วการเล่าเรื่อง และการนำเสนองานยังเป็นจุดอ่อนของคนไทย ซึ่งในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเราจะเป็นลูกจ้าง หรือเป็นเจ้าของกิจการ ทักษะการนำเสนองานและขายความคิดต่าง ๆ เป็นทักษะสำคัญที่เราต้องใช้ตลอดชีวิต แต่มหาวิทยาลัยไม่ค่อยได้สอน เรามักจะมาเรียนรู้กันเองภายหลังตอนทำงาน

วันนี้ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีน้อง ๆ นักศึกษากว่า 300 คนจากคณะนิเทศศาสตร์ คณะศิลปกรรม และวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์เอนเตอร์เทนเมนต์ เทคโนโลยี นักศึกษาได้ทำโครงการกลุ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการที่สนใจแก้ปัญหาความไม่ยั่งยืนของโลกใบนี้ โดยแต่ละกลุ่มจะเลือก SDG ที่เขาสนใจมาพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้าง Start Up

ผมถามน้อง ๆ ว่าเขาสนใจ SDG ข้อไหนกันบ้าง บางคนบอกว่า SDG 1 ความยากจน เพราะความจน ก่อให้เกิดความเหลื่อมลํ้า และปัญหาสังคมอื่น ๆ จะตามมาอีกมากมาย อีกคนบอกว่าสนใจ SDG 13 การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เพราะภาวะโลกเดือดจะทำลายทุกสิ่ง และหน้าร้อนปีนี้เดือดมากจริง ๆ อีกคนหนึ่งบอกว่าสนใจ SDG 14 ทรัพยากรทางทะเล เพราะโลกเดือด นํ้าก็ยิ่งร้อน ปะการังก็ฟอกขาว เหล่ากุ้ง หอย ปู ปลา ก็ลดจำนวนลง แถมมีพลาสติกก้นทะเลเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เราต้องช่วยกันดูแลทะเลมหาสมุทร
กันอย่างจริงจัง และอีกคนบอกว่าสนใจ SDG 3 สุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี เพราะคนสมัยนี้สนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น และก็มีปัญหาสุขภาพกันทุกวัย น่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจได้ ผมพูดคุยเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับน้อง ๆ อย่างสนุกสนาน ทำให้มีความหวังกับคนรุ่นใหมที่่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน น้อง ๆ ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยในช่วงนี้เป็นประชากรแห่งศตวรรษที่ 21 ที่แท้จริงเป็นชุดแรก พวกเขาเกิดตั้งแต่ ปี 2000 เป็นต้นไป ผมเคยบอกกระทรวง อว. ว่า ถ้าเราใส่ใจกับน้อง ๆ กลุ่มนี้อย่างจริงจัง ผ่านกระบวนการเรียนการสอนแบบใหม่ของมหาวิทยาลัย Re-Inventing University น้อง ๆ กลุ่มนี้จะเป็นผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ดี และจะนำน้อง ๆ ของพวกเขาไปปกป้องโลกใบนี้ให้ยั่งยืน

อาจารย์ยังเล่าให้ผมฟังอีกว่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเรียนการสอน เรื่องความยั่งยืน จนปัจจุบันได้มาตรฐาน UI Green อันดับที่ 1 ของมหาวิทยาลัยเอกชนไทย และอันดับ 82 ของโลก.