กรณีศึกษาซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์วารสาร Nature Sustainability ของนักวิจัยชาวจีนได้สร้างความตื่นตะลึงให้วงการ เมื่อผลวิจัยบ่งชี้ว่าปริมาณมลพิษในอากาศมีส่วนกระตุ้นให้คนคิดฆ่าตัวตายมากขึ้น

ในกรณีศึกษานี้ ทีมวิจัยชี้ว่าสภาวะอุณหภูมิผกผันเป็นเงื่อนไขสำคัญด้านสภาพอากาศที่ทำให้อัตราการกระทำอัตวินิบาตกรรมเพิ่มสูงขึ้นภายในช่วงเวลาเพียงสัปดาห์เดียวที่เกิดสภาพดังกล่าว

สภาวะหรือปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (Temperature inversion) คือสภาพที่มีชั้นอากาศร้อนครอบคลุมเหนือชั้นอากาศเหนือพื้นดินซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่า และกลายเป็นตัวกั้นอากาศเหนือพื้นดินที่เย็นกว่า ไม่ให้ลอยสูงและกระจายตัวออกไปในชั้นบรรยากาศด้านบน ทำให้อากาศเหนือพื้นดินไม่มีการถ่ายเท และที่สำคัญคือฝุ่นและมลพิษในอากาศไม่มีทางระบายออก จึงเกิดการสะสมจนถึงขั้นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นบางช่วงเวลา เช่น ช่วงกลางดึกหรือใกล้รุ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่พื้นผิวของโลกคายความร้อนออกมา ทำให้อากาศเหนือผิวดินเย็นลง 

ทีมวิจัยซึ่งนำโดย เผิงจาง และ แทมมา คาร์ลตัน ระบุว่า ปริมาณของฝุ่นพิษ PM2.5 อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระบบการทำงานของสมองของมนุษย์ ซึ่งนำไปสู่ความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง

นอกจากนี้ พวกเขายังพบว่ามลพิษในอากาศมีส่วนทำให้อัตราความเสี่ยงของการคิดฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพศหญิง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการคิดฆ่าตัวตายมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ อยู่แล้วราว 2.5 เท่า

ทีมวิจัยประเมินว่า การออกกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขภาวะมลพิษในอากาศของรัฐบาลจีน ได้ช่วยป้องกันประชาชนจำนวน 13,000-79,000 คน ให้รอดจากการฆ่าตัวตายระหว่างปี ค.ศ. 2013-2017 ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนการฆ่าตัวตายที่ลดลงในจีนราว 10% ในช่วงนั้น

ทีมวิจัยรวบรวมข้อมูลประชากรจากทางการและข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยากว่า 140,000 สัปดาห์ เพื่อนำมาหาความเชื่อมโยงระหว่างอัตราการฆ่าตัวตายในแต่ละมณฑลกับระดับมลพิษทางอากาศทั่วประเทศจีน โดยอาศัยวิธีการทางสถิติขั้นสูงเพื่อแยกแยะความสัมพันธ์ระหว่างอากาศที่สะอาดขึ้นและอัตราการเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายที่ลดลง

แม้ว่าจะยังไม่สามารถทำความเข้าใจกลไกเบื้องหลังความคิดในการทำร้ายตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ แต่ทีมวิจัยก็ชี้ได้ว่ามีปัจจัยที่ส่งเสริมความคิดฆ่าตัวตายเกี่ยวกับพฤติกรรม ค่านิยมในสังคมและสภาพของระบบประสาทที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ

การค้นพบนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญมากของนโยบายสาธารณะและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลที่สามารถช่วยบรรเทาวิกฤติปัญหาด้านสุขภาพจิตต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งผู้ป่วยที่มีความคิดฆ่าตัวตายด้วย

ทีมวิจัยหวังว่ากรณีศึกษาของพวกเขาจะช่วยกระตุ้นให้มีผู้สนใจเข้ามาทำงานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการฆ่าตัวตายและสภาพอากาศในประเทศอื่น ๆ และในระดับโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีระดับมลพิษในอากาศสูง ๆ 

ที่มา : nextshark.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES