“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาพลิกอ่อนค่า สวนทางเงินดอลลาร์ ที่ฟื้นตัวขึ้นตามแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ออกมาดีกว่าคาด โดยเงินบาททยอยอ่อนค่าลงสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ประกอบกับมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจากการย่อตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก

ขณะที่เงินดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด โดยเฉพาะดัชนีราคาผู้บริโภค (+3.2% YoY ในเดือน ก.พ. สูงกว่าตลาดคาดที่ 3.1% YoY) ดัชนีราคาผู้ผลิต (+1.6% YoY ในเดือนก.พ. สูงกว่าตลาดคาดที่ 1.1% YoY) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (ลดลง 1,000 ราย มาที่ 209,000 ราย ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 218,000 ราย)

ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อและตลาดแรงงานของสหรัฐ ที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ลดทอนโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเห็นเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุม FOMC ใกล้ๆ นี้ลง

ในวันศุกร์ที่ 15 มี.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.81 บาทต่อดอลลาร์ (หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 สัปดาห์ที่ 35.86 บาทต่อดอลลาร์) เทียบกับระดับ 35.42 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (8 มี.ค. 67)

สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 11-15 มี.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4.9 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 11,670 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 11,170 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 500 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (18-22 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.30-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ ผลการประชุมนโยบายการเงิน Dot Plot และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ทบทวนใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด (19-20 มี.ค.) รวมถึงผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (18-19 มี.ค.) และธนาคารกลางอังกฤษ (21 มี.ค.)

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย และข้อมูลเบื้องต้นของ PMI สำหรับเดือน มี.ค. ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือน ก.พ. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือน มี.ค. และอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. ของญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษ รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR และตัวเลขเศรษฐกิจของจีน อาทิ การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก ยอดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และอัตราการว่างงานด้วยเช่นกัน