เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 16 มี.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกรณีรายการสุขชาวบ้าน เผยคลิปวิดีโอสะท้อนปัญหา “ฟุตปาธ-กรุงเทพฯ” โดยยอมรับว่าจุดที่ไม่ดีก็มีอยู่ เพราะเราทำได้ไม่ 100% ทางเท้ารอบ กทม. มีราว 6,000 กม. ซึ่งจุดที่ดีก็มีอยู่ จุดใดที่มีปัญหาให้แจ้งเข้ามา เรายินดีรับฟังและจะนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยทุกเขตจะต้องปรับปรุงทางเท้า เพราะยังมีจุดอ่อนหลายจุด แต่เชื่อว่าปัจจุบันทางเท้าดีขึ้นในหลายพื้นที่


ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าในการปรับปรุงทางเท้าว่า ปัจจุบันเราทำการปรับปรุงจนไม่มีผู้รับเหมาทำแล้ว เพราะงานเต็มมือ เราพยายามปรับทางเท้าและหาบเร่แผงลอยไปพร้อมกัน โดยเฉพาะถนนสารสิน การไฟฟ้านครหลวงปรับปรุงทางเท้า เราจึงย้ายผู้ค้าหาบเร่แผงลอยไปยังริมสวนลุม ทำให้ทางเท้าสะอาดขึ้น หรือที่ถนนสุขุมวิทที่มีคนเดินทางเท้ามากขึ้น 

นโยบายคือ ถนนหลักทำให้หมด และบริเวณรอบรถไฟฟ้ารัศมี 1 กม.ต้องดีด้วย เพราะคนจะลงรถไฟฟ้าและเดินไปยังจุดมุ่งหมาย หากทำครบทุกสถานีจะทำให้คนใช้รถไฟฟ้าได้สะดวก ทำให้กรุงเทพฯ น่าอยู่มากขึ้น ทั้งยังต้องขอความร่วมมือจากผู้ค้าหาบเร่แผงลอย  อย่างที่ถนนอุดมสุข ขอความร่วมมือขอให้ออกไปให้หมดก่อนแล้วค่อยมาคุยว่าจะทำเป็นจุดผ่อนผันหรือไม่  ขณะที่ถนนวิทยุ เคลียร์จุดผ่อนผันไปแล้วมากกว่า 10  จุด ถนนคอนแวนต์จุดผ่อนผันเหลือฝั่งเดียว เราต้องค่อยเป็นค่อยไป และพยายามทำให้ดีขึ้น

ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงกรณีการฝังท่อระบายน้ำแบบใหม่ที่มีการพูดถึงในโลกออนไลน์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า แต่เดิมเราจะใช้เป็นตะแกรงเหล็กยาว มีช่องระบายน้ำ แต่ปํญหาคือตะแกรงเหล็กมีราคาสูง เพราะต้องมีความหนาและทำให้เกิดเสียงดังเมื่อรถจักรยานยนต์วิ่งเหยียบ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่มีประชาชนร้องเรียนเข้ามาด้วย จึงมีการปรับรูปแบบใหม่ เป็นการหล่อแบบสำเร็จมาจากโรงงาน แต่ปัญหาหนึ่งที่ชาวบ้านกังวลคือ ล้อรถจักรยานจะตกลงในช่องนั้นไหม ก็คงต้องดูให้เกิดความปลอดภัย แต่ก็เป็นแนวคิดใหม่ที่ทำให้น้ำระบายลงได้จากจุดของถนน ไม่ต้องไหลลงไปในบ่อพักแต่ละจุด เพราะบางแห่งเป็นแอ่ง อาจทำให้น้ำท่วมขังเป็นระยะยาว


ขณะที่นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอดีตการระบายน้ำบนผิวถนนจะเป็นตะแกรง เมื่อฝนตกทำให้มีขยะไปอุดตัน ส่งผลให้การระบายน้ำไม่ดี จึงได้เพิ่มช่องบนผิวถนนทำให้เพิ่มช่องในการระบายน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยจุดที่ทำนั้น จะทำขอบให้ชิดกับขอบทางเท้าและเราทำช่องไม่กว้างมาก การเกิดอุบัติเหตุก็จะมีความเป็นไปได้น้อย ซึ่งช่องแบบนี้ ปกติเราจะพบได้เวลาวิ่งออกจากปั๊มน้ำมัน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับลักษณะของท่อระบายน้ำแบบใหม่นี้ เรียกว่าท่อระบายน้ำแบบ O-Gutter สามารถรับน้ำได้ตามแนวขอบริมถนน ขยะชิ้นใหญ่จะลงไม่ได้ และหากมีการอุดตันจากขยะชิ้นเล็ก ก็สามารถเปิดฝาเพื่อเก็บขยะขยะหรือดูดเลนได้


นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ยังได้ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงการพัฒนาคลองโอ่งอ่างในอนาคต โดยผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า คลองโอ่งอ่างไม่มีประเด็นเรื่องการเมือง เราทำตามข้อเท็จจริง ถ้าจัดเป็นงานอีเวนต์ตลาดคนเดิน แต่นำร้านค้าด้านนอกมาทำให้คนในชุมชนไม่ได้ประโยชน์ เราอยากให้ค้นพบตัวเองอย่างหลายๆ ย่านในกรุงเทพฯ เช่น ปากคลองตลาด ตลาดน้อย ซึ่งมีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง


“จุดแข็งของย่านนี้คือ วิทยาลัยเพาะช่าง นำงานศิลปะเป็นตัวร่วมแล้วค่อยๆ พัฒนา อีกจุดคือลิตเติ้ลอินเดีย ที่มีอาหารอินเดีย ตอนนี้มีคนไปเยอะ สามารถพัฒนาเป็นร้านขายอาหารได้ ส่วนหลังสำนักงานต่างๆ ก็ไม่ได้มีกิจกรรมการค้าอะไร ต้องไปดูว่าจะไปพัฒนาอย่างไร เราไม่ได้ละเลย เราพัฒนาเพิ่มด้วย ขยายไปถึงคลองบางลำพู แต่เนื้อหาชุมชนก็ต้องช่วยกัน” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว