เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่หอประชุมกัลปพฤกษ์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 12 โดยได้รับเกียรติจากนายกองเอก ธารณา คชเสนี (ครูป๊อด) นายหมวดตรี น้ำเพ็ชร คชเสนี สัตยารักษ์ (ครูปั๊ม) ดร.ลักษิกา เจริญศรี (ครูป้ายู) ร่วมเป็นวิทยากร โอกาสนี้ นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นายสุรศักดิ์ อักษรกุล นายณฐพล วิถี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พันเอก ธนาวีร์ วิชาชัย รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดอุดรธานี (ธ) ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นางกนกกร สุทธิอาจ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี สถาบันการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ 20 อำเภอ ผู้เข้ารับการอบรมจาก 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยโสธร นครพนม มหาสารคาม หนองคาย มุกดาหาร กาฬสินธุ์ เลย บึงกาฬ อุดรธานี และสกลนคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 200 คน ร่วมพิธี

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 12 เป็นความหวังของประเทศในฐานะขุนพลทหารเอกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการน้อมนำพระราชปณิธานที่สะท้อนผ่านพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ด้วยการเป็นผู้ที่สืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชปณิธานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสานพระราชปณิธานแห่งองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มุ่งมั่นทำให้สังคมไทยได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ พูดคุย ในเรื่องของประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ทรงตระหนักและทรงเตือนพวกเรามาตั้งแต่แรก ๆ ว่า ถ้าเราละเลยไม่ศึกษาเล่าเรียน ไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย จะส่งผลเสียต่อความมั่นคงของชาติ และความปกติสุขของผู้คนในสังคม เพราะคนไม่รู้สึกผูกพัน ไม่รู้สึกว่าเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน จึงทรงมีพระราชดำรัสต่อมหาสมาคม เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ความตอนหนึ่งว่า “เพราะเราจะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ที่บรรพบุรุษของเราสละชีวิตมาเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาด้วยเลือดเนื้อ ด้วยชีวิต แต่เสียดาย …ไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วนะ…ตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิส แต่เมืองไทยนี่ บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดิน กว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่ นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติ เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์…อย่างที่อเมริกาถามไปเขาก็สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหน เขาก็สอน แต่ประเทศไทยไม่มี ไม่ทราบว่าแผ่นดินนี้ รอดไปอยู่จนบัดนี้เพราะใคร หรือว่ายังไงกัน อันนี้น่าตกใจ ชาวต่างประเทศยังไม่ค่อยทราบว่า นักเรียนไทยไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ชาติเลย” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงขยายความถึงคำว่า “ประวัติศาสตร์” ที่ได้พระราชทานแก่เยาวชนโครงการค่ายผู้นำเยาวชนจิตอาสา หลักสูตรการฝึกปฏิบัติและดูงานเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ รุ่นที่ 1 ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ประเทศชาติก็คือบ้าน แบ่งเป็นพื้นที่ต่าง ๆ สังคมต่าง ๆ ก็ลงมาอยู่ที่พื้นฐานก็คือครอบครัวและลงมาอยู่ที่ตนเอง บ้านเมืองของเรา ประเทศของเรา หรือบ้านหรือครอบครัวของเราเนี่ย จะมีความสุขปลอดภัย น่าอยู่ สบาย มันก็ขึ้นกับคนรุ่นเราในอนาคต…อนาคตอยู่ที่พวกเรา ประเทศชาติบ้านเมืองมีความสุขความมั่นคงอยู่ที่พวกเรา เพราะฉะนั้นประสบการณ์ที่ดี ประสบการณ์ที่ถูก สำคัญ ถ้าเกิดรู้ อยากรู้ว่าอะไรถูกหรือผิดมันก็มีตัวอย่าง ซึ่งสมัยนี้คนไม่ค่อยชอบเรียนประวัติศาสตร์กัน คนไม่ค่อยคิดอะไรย้อนหลัง ไม่ได้สอนให้เป็นคนสมัยเก่าไดโนเสาร์อะไร แต่ ความเป็นมา ความต่อเนื่อง …ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์หรือความเป็นมาของชาติบ้านเมือง ทั้งที่ดี ทั้งที่ไม่ดี เราก็จะรู้ว่าอะไรมันดี อะไรเป็นประโยชน์ อะไรมันไม่ดี เพราะว่ามันมีของดี มันก็มีของไม่ดี มันมีของถูก มันก็มีของผิด ก็สำคัญที่ว่า จะเปิดใจศึกษาว่าอะไรมันถูก อะไรมันผิด อะไรมันเป็นประโยชน์ อะไรมันไร้ประโยชน์ แต่อย่างที่บอกว่าประวัติศาสตร์มีทั้งของเลวชั่วร้าย และก็มีทั้งของที่ดี…แต่ที่สำคัญ คือ เราต้องเอาบทเรียนมาใช้…เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เพราะเรา คือ อนาคตประวัติศาสตร์มาปัจจุบัน ปัจจุบันก็คืออนาคต ปัจจุบันถือไมโครโฟน พอวางลงก็เป็นอดีต เมื่อเราจับไมโครโฟนมาใหม่ก็เป็นปัจจุบัน…ถ้าเราอยากเรียนลัด ก็ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาให้มาก ว่าสมัยก่อนมันเป็นอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้มันเป็นอย่างนั้น แล้วปัจจุบันเราจะทำอย่างไรให้เรามีความรู้ มีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่จะรักษาประเทศชาติบ้านเมือง อย่างน้อยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นกำลังใจให้…” อันสะท้อนว่า ประวัติศาสตร์มีความสำคัญที่ช่วยให้เราตระหนักรู้ถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทั้งของประเทศชาติ ของครอบครัว และของชีวิต ว่ามีทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องที่ไม่ดี ถ้าเรื่องดีก็เอาเป็นตัวอย่าง ยึดถือปฏิบัติเป็นวัตรปฏิบัติได้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นกำลังใจให้ผู้ที่มีความมุ่งมั่นในการ “แก้ไขในสิ่งผิด” ด้วยการรวบรวมคนไทยที่เป็นบัวพ้นน้ำ ผู้ตั้งใจใคร่ครวญและมีจิตใจที่จะช่วยสนองแนวพระราชปณิธาน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศไทย เพราะประเทศไทยสืบทอดกันมานับ 1,000 ปี เพราะเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ “เรามีผู้นำ” เช่นเดียวกับครอบครัวเราอยู่กันมา 3-4 ชั่วคน เพราะเรามีหัวหน้าครอบครัว มีผู้นำ ซึ่งพระราชดำรัสของพระองค์ท่านชัดเจนว่า อดีตมีทั้งดีและไม่ดี “แต่เรื่องใหญ่คือต้องเรียนรู้เพื่อให้รู้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความเป็นชาติ คนไทยเรามีความหลากหลายทางภาษาถิ่น ต่างประเพณีวัฒนธรรม ต่างศาสนา แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้คนผูกพันเป็นคนในชาติเดียวกันได้ คือ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” อันเป็นรากเหง้าความเป็นมาของชาติเรา” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการ องค์ที่ 2 ที่ได้พระราชทานแก่ข้าราชบริพาร ซึ่งเป็นการขยายความเป้าหมายของคำว่า “ประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร” อันประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ประเทศชาติมั่นคงและประชาชนมีความสุข ซึ่งทั้ง 2 เรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะถ้าประชาชนมีความสุขก็จะส่งผลให้ประเทศชาติมั่นคง และหากคิดในทางตรงกันข้าม ถ้าประเทศชาติไม่มั่นคง ประชาชนก็จะไม่มีความสุข ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จึงขอให้พวกเราได้น้อมนำพระราชปณิธานของพระองค์ปลุกพลัง ตั้งอกตั้งใจไปช่วยกันบอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วยกันต่อไปในอนาคต เพราะทุกท่านได้ เสียสละเข้ามาเป็น “ครูจิตอาสา” บอกเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแก่ผู้คนในสังคม ดังพระปฐมบรมราชโองการเราจะสืบสาน รักษา และต่อยอดและครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”ทั้งนี้ “เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร” ประเทศต้องมั่นคง ประชาชนต้องมีความสุข ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ “เราต้องช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิด” และที่สำคัญ คือ สิ่งดี ๆ แนวทางดี ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานผ่านโครงการพระราชดำริและพระราชดำรัสในโอกาสต่าง ๆ ก็ต้องน้อมนำมาสืบสานพระราชปณิธาน และใช้ชีวิต “ครองตน” ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักชัยในการดำเนินชีวิต โดยสิ่งที่สำคัญในการฝึกอบรมครั้งนี้ เป็นการช่วยกัน “แก้ไขในสิ่งผิด”

“ในสิ่งที่เราห่างหายขาดหายไปกว่า 25 ปี คือ การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษ ซึ่งพวกเราทุกคนเข้าใจดีว่า มันมีผลกระทบต่อสิ่งที่เรียกว่า ความผูกพันของจิตใจที่จะมีต่อบรรพบุรุษ เพราะประวัติศาสตร์ชาติไทยมีเรื่องที่เป็นวีรกรรมของบรรพบุรุษ มีเรื่องที่เราประสบความสำเร็จในการรักษาเอกราชและผืนแผ่นดินไทยเอาไว้ให้พวกเราจนถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกันก็มีส่วนที่พลาดพลั้งผิดพลาดจนทำให้ประเทศเสียเอกราชก็เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งถ้าเราไม่เล่าไม่เคยถ่ายทอดให้ลูกหลานรู้จักคุณความดีของบรรพบุรุษ หรือปู่ย่าตาทวดในครอบครัว สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอน คือ ลูกหลานไม่รู้จักโคตรเหง้าบรรพบุรุษของตระกูลเพราะพวกเขาเกิดไม่ทัน และเขาก็จะไม่ทราบว่า ที่พ่อแม่มีที่ดิน มีทรัพย์สินให้ได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายทุกวันนี้ เพราะมีปู่ย่าตายาย มีทวด มีบรรพบุรุษที่ส่งต่อส่งผ่านชีวิตและความสุขรวมถึงคำสอนเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งญาติพี่น้องที่กระจัดกระจายแยกย้ายขยายสาขาไปมีครอบครัวยังจังหวัด อำเภอต่าง ๆ หรือในต่างประเทศ เมื่อเราไม่เล่าเขาก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้เขาก็ไม่มีความผูกพัน ความกตัญญูกตเวทีก็ไม่เกิด ซึ่งเรื่องนี้ทั้งเรื่องส่วนตัวและส่วนรวมมีความคล้ายกัน เพราะในประเทศนี้บรรพบุรุษของเราเสียสละมากมาย” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า คนมหาดไทยทุกคน นับเนื่องตั้งแต่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการทุกระดับ ตระหนักว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกท่าน คือ คนสำคัญที่จะทำให้คนในสังคมไม่ลืมพระคุณและคุณงามความดีของบรรพบุรุษไทย และไม่ลืมเลือนความเป็นมาของประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อทำให้คนไทย ลูกหลานไทยเกิดความกตัญญูกตเวที ซึ่งหน้าที่ที่สำคัญของพวกเรา คือ ต้องถ่ายทอดทำให้ลูกหลาน ทำให้พี่น้องในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ได้รับรู้ เข้าใจ ซาบซึ้ง และสำนึกในบุญคุณของบรรพบุรุษ เพื่อจะได้เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณและประเทศชาติบ้านเมือง ดังพุทธศาสนสุภาษิต “นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายแห่งคนดี” ไปทำในสิ่งที่สังคมขาดหาย คือ “การเป็นครูจิตอาสาที่เข้มแข็ง” ออกไปทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำถิ่นในชุมชน ในจังหวัด ในโรงเรียน ในเรือนจำ ในที่ประชุม ในที่ประชาคมต่าง ๆ ไปถ่ายทอดความรู้ สร้างครู ข ครู ค แน่นอนว่า การบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นการทำความดี ซึ่งเป็นเรื่องยาก จึงต้องทำด้วยหัวใจที่กล้าแกร่ง เพื่อเพิ่มพูนคนทำดีให้กับประเทศชาติบ้านเมืองของเรา เพื่อทำให้ประเทศนี้ไม่ลืมบรรพบุรุษ และช่วยกันทะนุถนอม ครองตน ดำรงชีวิต เพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ทำให้ประเทศชาติ พระศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์มีความมั่นคง ประชาชนก็จะมีความสุขอย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ กระทรวงมหาดไทยและทุกกระทรวง โดยกระทรวงมหาดไทย จะมอบบัตรประจำตัวจิตอาสาผู้ถ่ายทอดความรู้ประวัติศาสตร์ฯ และวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมทุกคน