ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมศาลากลาง นายกรกฎ วงษ์สุวรรณ รอง ผวจ.สมุทรสงคราม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบ โดย น.ส.กาญจนา คำสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตราด รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.สมุทรสงคราม รายงานผลการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ด้านการป้องกันการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.สมุทรสงคราม ปีงบประมาณ 2566 (ไตรมาสที่ 1-2) เช่น โครงการรณรงค์สร้างกระแสต่อต้านการทุจริต การแก้ปัญหาการทุจริตในพื้นที่ และโครงการ STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต เป็นต้น

ส่วนความคืบหน้าการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปี 2567 ของ จ.สมุทรสงคราม แบ่งเป็น 3 ประเภทได้แก่ อปท. จำนวน 36 แห่ง สถานีตำรวจ 5 แห่ง และอำเภอ 3 แห่ง สถานะปัจจุบันการตอบแบบประเมิน IIT ครบค่าขั้นต่ำ 23 แห่งยังไม่ครบ 14 แห่ง แบบประเมิน EIT ครบค่าขั้นต่ำ 15 แห่ง ยังไม่ครบ 22 แห่ง ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2567

นอกจากนี้ ยังรายงานความก้าวหน้าประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต (คิด ทำ ทิ้ง) โครงการศูนย์เกษตรและประมงแปรรูปครบวงจร (อาคารระบบบำบัดน้ำเสีย) โดย อบจ.สมุทรสงคราม ชี้แจงว่า อบจ. สามารถตั้งงบซ่อมแซมได้แต่จะต้องมีการหารือกับสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด ถึงค่าดูแลรักษารายปีภายหลังการซ่อมแซมเสร็จ หากได้ข้อสรุปร่วมกัน สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ต้องทำเรื่องขออนุญาตใช้พื้นที่ต่อกรมธนารักษ์ เพื่อประสาน อบจ. ทำเรื่องตั้งงบประมาณเข้าสู่การพิจารณาของ สภา อบจ. ต่อไป

ส่วนประเด็นที่ได้จากกิจกรรมการประชุม (Watch & Voice) จับตามอง แจ้งเบาะแส และการลงพื้นที่สังเกตการณ์ของชมรม STRONG -จิตพอเพียงต้านทุจริต 4 เรื่องได้แก่ 1.อาคารระบบผลิตน้ำประปา บริเวณซอยด้านข้างวัดกลางเหนือ หมู่ 2 ต.บางกุ้ง อ.บางคนที ถูกทิ้งร้าง การประปาส่วนภูมิภาคสาขาสมุทรสงคราม ชี้แจงว่า อบจ. โอนให้การประปาส่วนภูมิภาคสาขาสมุทรสงครามเมื่อปี 2560 เนื่องจากต้องการแหล่งน้ำเพิ่มเติมเพื่อการผลิตน้ำประปา ต่อมาปี 2563 การประปาส่งคืน เนื่องจากไม่สามารถผลิตน้ำได้ เพราะการก่อสร้างไม่สมบูรณ์และภาวะน้ำเค็มรุก ต้องใช้งบปรับปรุงสูง แต่ อบจ. ไม่รับคืน จากการตรวจสอบพบว่า อบจ. ทำสัญญาเช่ากับวัดกลางเหนือ อีกทั้งการรับโอนไม่ถูกต้องตามขั้นตอนตามบัญญัติของกฎหมาย จึงปรากฏว่าการรับโอนเป็นโฆมะ จึงจะต้องหารือเพื่อหาแนวทางจัดการต่อไป

2.ป้ายโฆษณาไตรวิชชั่น (Trivision billboard) บริเวณแยกตลาดบางนกแขวกไม่สามารถใช้งานได้ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.สมุทรสงคราม ชี้แจงว่า ได้จัดซื้อจัดจ้างพัสดุโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมื่อปี 2557 ปัจจุบันป้ายไม่สามารถหมุนได้และชำรุดบางส่วน แต่ยังนำป้ายไวนิลไปติดตั้งได้แต่ก็ไม่ได้มีการใช้งานแล้ว ที่ประชุมจึงให้การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ทำหนังสือสอบถามต้นสังกัดว่าจะดำเนินการตามระเบียบต่อไปอย่างไร

3.เสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์บริเวณแยกตลาดบางนกแขวก ไม่สามารถใช้งานได้ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.สมุทรสงคราม ชี้แจงว่า มีการสร้างตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและส่งเสริมการประหยัดพลังงานและได้ส่งมอบให้กรมธนารักษ์เมื่อปี 2562 แต่กระบวนการส่งมอบยังไม่เรียบร้อย จึงไม่มีผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ เทศบาลบางนกแขวกบอกว่า หากจะส่งมอบให้เทศบาลก็ยินดี แต่ขอให้ปรับปรุงให้ใช้ได้ก่อนเพื่อถูกต้องตามระเบียบต่อไป

และ 4.อาคารศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์ ปิดให้บริการ อบจ.สมุทรสงคราม ชี้แจงว่า เนื่องจากอาคารใช้งานมานาน เกิดความทรุดโทรมและถูกปิดเพื่อเป็นที่พักของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด ล่าสุด อบจ. บรรจุโครงการปรับปรุงเข้าแผนพัฒนาท้องถิ่นปี 2566-2570 ได้แก่ การปรับปรุงสะพานทางเดินป่าชายเลน งบประมาณ 4 ล้านบาท ปรับปรุงอาคาร ระบบนิทรรศการหอดูดาว 2 ล้านบาท ปรับปรุงอาคารและสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ งบประมาณ 13,200,000 บาท

นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังเสนอแนวทางขับเคลื่อนจริยธรรมสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ออนไลน์ เนื่องจากมีหน่วยงาน อปท. ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งในในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ประจำปีงบประมาณ 2566 จำนวน 1,517 แห่งทั่วประเทศ โดยแบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ การขับเคลื่อนจริยธรรม มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 78.57 คะแนน มีหน่วยงานไม่ผ่านเกณฑ์ที่ 85 คะแนน และมี อปท. ที่ไม่มีคะแนนการประเมินในข้อดังกล่าวจำนวน 1,682 แห่ง สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบ อปท. ใน จ.สมุทรสงคราม พบว่ามีที่ไม่มีคะแนนในการประเมิน 6 แห่ง ได้แก่ อบต.บางแก้ว อบต.ดอนมะโนรา อบต.เหมืองใหม่ อบต.บางแค เทศบาลอัมพวา และเทสบาลบางยี่รงค์