เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 22 มี.ค. 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระ 2 เรียงตามรายมาตรา จำนวน 41 มาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 67 พิจารณาเสร็จแล้ว เป็นวันสุดท้าย

เข้าสู่พิจารณา มาตรา 31 งบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานของศาล ที่ กมธ. ปรับลดลงเหลือง 7,961,884,300 บาท จากเดิมที่เสนอมา 7,969,216,200 บาท

โดย น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ สส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับงบประมาณค่ารถประจำตำแหน่งตุลาการ 41 ล้านบาท เพราะตุลาการสามารถออกเองได้ เนื่องจากได้ค่าตอบแทนที่สูงอยู่แล้ว ยิ่งขณะนี้เศรษฐกิจประเทศถดถอย มีประชาชนจำนวนมากประสบกับภาวะข้าวยากหมากแพง ดังนั้นพวกเราในฐานะได้รับภาษีของประชาชน ควรลำบากไปพร้อมประชาชน ไม่ใช่รีดเงินไปใช้กับวัตถุ ทำให้ตนเองสุขสบาย ที่สำคัญเมื่อพิจารณาจากบทบาทการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา ปฏิบัติงานประจำอยู่ในอาคารสำนักงาน ไม่ได้ออกไปนอกเส้นทางบ่อยครั้ง และแม้จะออกนอกเส้นทาง ผู้พิพากษาสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะเหมือนประชาชนได้เช่นเดียวกัน รวมถึงงบก่อสร้างอาคารศาลพร้อมบ้านพัก 1,324 ล้านบาท เห็นว่าบ้านพักตุลาการใหญ่โต หรูหรา กว้างขวางกว่าบ้านพักข้าราชการครู และตำรวจ จึงขอตั้งคำถามว่าความเหมาะสมหรือไม่

ด้านนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตามปกติไม่ว่าจะจำเลยหรือโจทก์ จะต้องมีการวางเงินประกัน แต่เมื่อคดีเสร็จเด็ดขาด เหตุใดจึงคืนเงินประกันอย่างเดียว แต่ไม่คืนดอกเบี้ยให้เจ้าของเงิน ผู้ใดเอาดอกเบี้ยที่เกิดจากคู่ความวางประกันไว้ จะมีความผิดฐานรับของโจร หรือลักทรัพย์หรือไม่ ท่านมีสิทธิอะไรที่เอาดอกเบี้ยไปเป็นเงินสวัสดิการของท่าน ศาลไม่ต้องมายุ่ง ไม่ต้องเอาเงินส่วนนี้ไปใช้ เป็นสวัสดิการอ้างข้างๆ คูๆ โดยไม่มีกฎหมายรองรับ เพื่อความยุติธรรมของศาลยุติธรรม

ขณะที่นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ กมธ. ชี้แจงว่า เรื่องดอกเบี้ย ทางสมาชิกควรสอบถามและทวงในคณะ กมธ. ชุดต่อไปนี้ อย่างไรก็ตาม ในคณะ กมธ. ชุดนี้ ได้ใส่ไว้เป็นข้อสังเกตเรียบร้อยแล้ว  

นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ในฐานะ กมธ. สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า บางทีการไปโจมตีการครองตนของข้าราชการตุลาการต้องระวัง เพราะเขาไม่เหมือนคนอื่น เขาใช้ชีวิตอิสระแบบคนอื่นไม่ได้ บ้านพักต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ บางคนไม่เข้าใจวิธีการเป็นไปของโลก ก็จะโจมตีผิด ๆ ถูกๆ ข้าราชการตุลาการ ผู้พิพากษา ต้องผดุงความยุติธรรมสูงสุด เราเองคงหาความยุติธรรมเหนือกว่านี้ไม่ได้ ในระบบทั่วโลกก็เป็นเช่นกัน ถ้าหากไม่ให้เขาสันโดษ ให้มีเพื่อนจำนวนมาก จะทำให้ไม่มีความอิสระ เพราะต้องเกรงใจไปทั่ว เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาสิทธิที่เขาพึงมีมีอะไรบ้าง เช่นเดียวกับ สส. ถ้าไม่มีผู้ช่วย สส. 7-8 คน ถามว่าจะดูแลประชาชนอย่างไร ถ้าจะแก้ต้องแก้หลักใหญ่ อย่าโจมตีจุดเล็ก จะได้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ดังนั้น ยืนยันขอให้ตั้งงบตามที่ กมธ. แก้ไข

ทำให้ น.ส.ธิษะณา ชี้แจงว่า เห็นด้วยที่อาชีพผู้พิพากษามีเกียรติศักดิ์ศรี แต่ สส. ก็มีความอันตราย มีศัตรูทางการเมืองไม่แพ้กัน แต่ไม่มีบ้านพักอาศัยที่ภาษีประชาชน และยืนยันงบประมาณสร้างบ้านพักศาลควรตัดออก เพราะไม่จำเป็น

หลังจากอภิปรายครบถ้วนทุกคนแล้ว ที่ประชุมลงมติให้ความเห็นชอบมาตรา 31 ตามที่ กมธ. เสียงข้างมากเสนอ.