เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงยุติธรรม ครบรอบ 133 ปี กระทรวงยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความยุติธรรมนำประเทศ โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงยุติธรรม และอดีตผู้บริหารกระทรวง​ยุติธรรม ร่วมพิธีสงฆ์ ณ ห้องสนฉัตร 1-3 ชั้น 3 อาคารกระทรวงยุติธรรม เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ต่อมาเวลา 08.30-10.45 น. พิธีเปิด และพิธีมอบรางวัลเข็มเครื่องหมายยุติธรรมธำรง ข้าราชการพลเรือนดีเด่น และงานวิจัยดีเด่น ก่อนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า วันนี้เป็นวันครบรอบ 133 ปี ของกระทรวงยุติธรรม ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศจัดตั้งกระทรวงยุติธรรม ขึ้นเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2434 อย่างไรก็ตาม ในพลวัตรของกระทรวงยุติธรรมที่ผ่านมา ได้เป็นหน่วยงานที่นำและพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในยุคแรกๆ ที่ยังมีต่างชาติไม่ค่อยไว้ใจประเทศไทยในเรื่องระบบยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพของอาณาเขต กระทรวงยุติธรรมก็ได้รับบทบาทพัฒนาศาลยุติธรรม ได้จัดทำประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จนต่างประเทศได้ให้การยอมรับ จึงทำให้ข้าราชการกระทรวงยุติธรรมได้ภูมิใจว่ากระทรวงยุติธรรมในยุคแรกเป็นกระทรวงยุติธรรมที่รักษาความมั่นคงในประเทศในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม และในยุคสมัยหลังการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและระบบราชการ เมื่อปี พ.ศ. 2545 จึงมีการปฏิรูปกระทรวงยุติธรรม หน่วยงานธุรการของศาล ก็แยกออกจากกระทรวงยุติธรรมไปอยู่ในส่วนของศาล กระทรวงฯ จึงมีหน้าที่ในเรื่องกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ทั้งเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เรื่องของการพัฒนากฎหมาย และการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งนี้ ในส่วนภาพอนาคตของกระทรวงยุติธรรมนั้น เราก็ต้องขอให้รักษาสิ่งที่อดีตผู้บริหารได้สร้างไว้ แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมมีมาก กระทรวงยุติธรรมในยุคต่อไป จะต้องทำให้ความยุติธรรมเข้าถึงประชาชนทุกคน และต้องเป็นความยุติธรรมถ้วนหน้า

พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงการกำชับหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล ว่า ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องภายใน เช่น กรมราชทัณฑ์ จะมีปัญหาในเรื่องของโครงสร้าง เนื่องจากผู้ต้องขังมีจำนวนมากกว่าโครงสร้างที่จะมารองรับ เราก็คงจะต้องผลักดัน และทางราชทัณฑ์ก็ทำหน้าที่อยู่แล้ว แต่อาจจะต้องผลักดันในประเด็นของนักโทษระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งมีประมาณ 50,000 ราย กับนักโทษเด็ดขาด ซึ่งในรัฐธรรมนูญได้ระบุว่า ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำตัดสิน จะปฏิบัติต่อผู้นั้นเหมือนกับผู้ที่ศาลมีคำตัดสินไม่ได้ โดยกรมราชทัณฑ์จะต้องไปปรับเรื่องโครงสร้างภายใน คือ พยายามแยกนักโทษระหว่างพิจารณาคดีและนักโทษเด็ดขาดออกจากกัน อีกทั้งกฎหมายราชทัณฑ์ หรือ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายที่ทันสมัย เพราะเราเปลี่ยนจากการแก้แค้นเป็นการพัฒนาฟื้นฟู เพราะเราไม่ได้เอาคนเข้าคุกอย่างเดียว แต่กรมราชทัณฑ์มีไว้สำหรับเอาคนกลับสู่สังคมไม่กระทำผิดซ้ำ และหน่วยงานพฤตินิสัย ทั้งกรมคุมประพฤติ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จะต้องทำงานหนัก ต้องกล่อมเกลาให้เขากลับไปอยู่ในสังคมได้ อย่างไรก็ตาม สังคมไทยยังเป็นสังคมที่ยังตราหน้าอยู่ว่าคนที่ออกจากเรือนจำฯ ยังไม่ได้รับความไว้วางใจ ยังมีการด้อยค่าอยู่ จึงอยากให้ทั้ง 2 กรมฯ เป็นสถานที่ที่สร้างคนที่มีคุณภาพกลับไปสู่สังคม นี่เป็นภารกิจที่สำคัญที่ต้องพัฒนากันต่อไป

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่ตนได้มอบหมายให้กรมราชทัณฑ์ไปดูในส่วนของการแต่งกายของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีและผู้ต้องขังเด็ดขาด เมื่อต้องขึ้นศาลนั้น ตามที่ตนได้ระบุถึงรัฐธรรมนูญ ที่มีการกำหนดถึงหลักการปฏิบัติกับกลุ่มคนที่ศาลยังไม่มีคำตัดสิน จะปฏิบัติเหมือนผู้นั้นเป็นบุคคลที่ถูกศาลตัดสินไม่ได้ ที่เห็นชัดเจน คือ เวลาเป็นคดีความ คดีจะมีผู้ร่วมกระทำผิดหลายราย บางรายที่ร่วมกระทำผิดแต่ได้ประกันตัวชั่วคราว พอต้องขึ้นศาลก็สวมใส่สูท ในขณะที่คนที่ยังอยู่ในเรือนจำฯ กลับต้องใส่ชุดสีลูกวัว ในมุมมองของผู้ตัดสินหรือคนภายนอก ความรู้สึกก็เปลี่ยนไป เราก็มองว่าเรื่องนี้จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้ตอนพวกเขาออกจากเรือนจำฯ เพื่อไปขึ้นศาลจะสามารถแต่งกายชุดปกติได้ อย่างน้อยที่สุดมันจะปรากฏต่อสาธารณะ และตนต้องขอขอบคุณอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีนบุรี ท่านเป็นผู้ผลักดันเรื่องนี้ด้วย และศาลอาญามีนบุรีก็เป็นตัวอย่าง เพราะใต้ถุนศาลจะมีพื้นที่สำหรับการแต่งกาย ถือเป็นยกระดับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี จะเป็นเรือนจำฯ นำร่องที่แรกที่ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีจะได้สวมใส่ชุดธรรมดาขี้นศาลนั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ทางกรมราชทัณฑ์จะมีการพูดคุยกัน เพราะการแยกเรือนจำยังมีเรื่องของการแยกผู้ต้องขัง ก่อนปล่อยตัวด้วย และเราอาจต้องให้เขามีอาชีพตามความถนัดในช่วงที่อยู่ในเรือนจำฯ อาจจะมีเรือนจำเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย

ส่วนความคืบหน้าเรื่อง ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 หรือระเบียบคุมขังภายนอกเรือนจำฯ พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า ตอนนี้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อยากให้ตัวระเบียบมีความรอบคอบ เพราะมันมีกระแสความรู้สึกของคนรอบนอกด้วย และคนข้างในด้วย แต่หลักการ 2 ประการที่กรมราชทัณฑ์ต้องมีสำหรับระเบียบดังกล่าว คือ 1.จะต้องไม่ทำให้ผู้ต้องขังก่อเหตุหลบหนี 2.เมื่อผู้ต้องขังออกไปคุมขังภายนอก จะต้องไม่ไปก่อเหตุร้าย ทั้งนี้ ทราบว่าตัวระเบียบหลักน่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว แต่อยู่ระหว่างขั้นตอนซักซ้อมการปฏิบัติ อย่างไรตัวระเบียบแม้จะออกมาแล้ว แต่ในส่วนของแนวทางการปฏิบัติสำหรับเรือนจำฯทั่วประเทศ ซึ่งเราให้อำนาจไปที่ราชทัณฑ์ก็จริง แต่เขาก็มีระบบลูกคณะ ไม่ได้ทำเพียงหน่วยงานเดียว แต่อย่างน้อยที่สุดต้องทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ และเราก็หวังว่าคนกลุ่มนี้เมื่อได้คุมขังภายนอกเรือนจำฯ ก็เหมือนเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย อย่างไรก็ตาม มีผลลัพธ์ที่ยังต้องศึกษาและติดตามอีกจำนวนมาก จึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด ให้มีความมั่นใจก่อน

ส่วนกลุ่มรายคดีใดจะได้รับการยกเว้นไม่เข้าข่ายได้รับสิทธิตามระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ หรือไม่นั้น พ.ต.อ.ทวี แจงว่า ตนยังไม่ได้ดูในรายละเอียดเนื่องจากมันมีหลายคดีที่ออกไปแล้วต้องดูความปลอดภัยในสังคม เช่น คดีเกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรง ส่วนอื่น ๆ คงต้องรอให้กรมราชทัณฑ์ได้มีการแถลงข่าวแทน ยืนยันว่าไม่มีใครทำเหนือกฎหมายได้ กรมราชทัณฑ์ รับหน้าที่บริหารโทษ เช่น การลดโทษ การให้ไปคุมขังยังสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำฯ การพักโทษ การไปรักษาตัวนอกเรือนจำฯ เป็นต้น ส่วนการลงโทษเป็นอำนาจของศาล อำนาจคนละส่วนกัน.