ที่ห้องประชุมเล็ก โรงแรมมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อ.เมือง จ.ยะลา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานประชุมคณะทำงานการขับเคลื่อนการแก้ปัญหายาเสพติดภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี คณะทำงานขับเคลื่อนที่มี พล.อ.วิชาญ สุขสง เป็นหัวหน้าคณะยุทธศาสตร์ ได้รายงานถึงความคืบหน้าในการลงพื้นที่ประชุม กับผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และแกนนำอาสาระดับตำบลในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีการประชุมระดับจังหวัด 2 จังหวัด คือ จ.ยะลา และ นราธิวาส และการประชุมระดับตำบล 53 ตำบล โดยการ ขับเคลื่อนทั้งหมด มีเป้าหมายเชิงคุณภาพ และเป้าหมายเชิงปริมาณ มีปัญหา อุปสรรคหลายอย่าง แต่คณะทำงานไม่กล่าวถึง เพราะทุกฝ่ายมีความมุ่งมั่น ที่จะเห็นความสำเร็จของการขับเคลื่อนเพื่อการแก้ปัญหา

โดย ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่เป็นกรรมการคณะทำงาน ได้กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนการแก้ปัญหายาเสพติดภาคประชาชน พบว่าผู้เข้าร่วมแก้ปัญหาภาคประชาชนให้ความสนใจ เรื่องกีฬา เรื่องอาชีพ และยังมีความไม่เข้าใจ เห็นว่างานในเชิงคุณภาพ ต้องทำให้เห็นผลพื้นที่ละ 2 ตำบล ให้เป็นผลสำเร็จ และค่อยๆ ขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ในขณะที่ ดร.มังโสด หม๊ะเต๊ะ กรรมการคณะขับเคลื่อน ซึ่งเป็นเจ้าของสถานศึกษา โรงเรียนเอกชนสอนศานาอิสลาม ได้แจ้งในที่ประชุมถึงปัญหาอุปสรรค ของผู้ติดยาเสพติด ที่เป็นนักศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ที่ผู้ปกครองไม่ยินยอมให้บุตรหลานของตนเองที่ติดยาเสพติด เข้ารับการบำบัดในศูนย์บำบัดรวม เพราะเกรงว่าจะไปไปบำบัดและมีการสร้างเครือข่ายกับผู้เสพติดที่เข้ารับการบำบัดด้วยกัน ซึ่งจะมีปัญหาตามมาในภายหลัง จึงขอให้มีการพิจารณาในปัญหาดังกล่าว ในการที่ต้องมีศูนย์บำบัดเฉพาะ สำหรับนักเรียนนักศึกษา ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้เล่าถึงการไปดูงานเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติดในต่างประเทศ ที่เขาได้เน้นเรื่องยาเสพติดเป็นด้านหลัก แต่เน้นในเรื่องการศึกษา การให้ความรู้ และการมีอาชีพ หลักการฟื้นฟู ซึ่งให้มีการประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา ต้องให้เขามีความฝัน มองเห็นอนาคต และคนในพื้นที่ต้องแจ้งให้หน่วยงานราชการรับรู้ถึงปัญหาของยาเสพติด เพื่อให้ได้รับรู้ว่าได้ผลหรือไม่ได้ผล ในโครงการต่างๆ ที่มีการลงไปในพื้นที่ โดยเน้นที่ 53 ตำบล เป็นด้านหลัก เรื่องของการบำบัดเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องดูรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร สิ่งสำคัญคือ คนติดยาเสพติด กลัวการบำบัด แต่ไม่กลัวการติดคุก เพราะการอยู่ในเรือนจำมี ข้าวกิน มีความเป็นอยู่ที่สบายกว่าการเข้ารับการบำบัด ซึ่งสุดท้าย พล.อ.วิชาญ สุขสง ประธานคณะยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการแก้ปัญหายาเสพติดภาคประชาชน ได้ สรุปว่า ในห้วงของการเข้าสู่เดือนรอมฎอน จะใช้วิธีการขับเคลื่อน โดยการประชุมกลุ่มย่อย ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ผู้นำศาสนา และแกนนำอาสาตำบล เพื่อให้ทราบแนวทางในการปฏิบัติ พร้อมทั้งเขียนโครงการเพื่อของบประมาณในการขับเคลื่อน ทั้งเรื่องกีฬา เรื่องอาชีพ และอื่นๆ หลังเดือนรอมฎอน จะมีการนำตัวแทนทั้ง 53 ตำบล ไปดูงานการแก้ปัญหายาเสพติด เพื่อให้แนวทางของการขับเคลื่อน ที่ประสบความสำเร็จของภาคประชาชน