เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ห้องประชุม ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 2 ทำเนียบรัฐบาล นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกันเป็นประธานการประชุมการแก้ปัญหาพื้นที่ซับซ้อนแนวเขตระหว่างอุทยานแห่งชาติในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าของกรมป่าไม้ กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เข้าไปในเขตป่า โดยมีนายอรรถพล เจริญชั้นษา อธิบดีกรมอุทยานฯ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. ว่าที่ ร.ต.พีรพล มั่นจิตต์ ผู้ช่วย ผอ.สำนักงานคุณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษารมว.เกษตรฯ และฝ่ายกฎหมาย เข้าร่วมการประชุม อย่างไรก็ตาม ปลัดทั้ง 2 กระทรวง ได้มีการพูดคุยกันนอกรอบประมาณ 10 นาที ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น

สางปัญหา! 2 กระทรวงถกด่วน หาทางออกยุติพิพาทพื้นที่ทับซ้อนป่ามรดกโลกเขาใหญ่

ภายหลังการประชุม นายจตุพร แถลงว่า ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มาร่วมหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน ระหว่างพื้นที่อุทยานกับที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งการประชุมเป็นไปอย่างเรียบร้อย และแต่ละฝ่ายได้ให้ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ ซึ่งทั้งสองกระทรวงมุ่งทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยนับจากนี้ ทั้งสองกระทรวงจะมีแนวทางการทำงานร่วมกันที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการทำ MOU ร่วมกัน และนำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อกำหนดเป็นมาตรการการทำงานร่วมกันในอนาคต ต่อไปนี้การออกที่ดิน ส.ป.ก. จะต้องมีคณะกรรมการที่ประกอบด้วย 9 หน่วยงาน มาช่วยกันพิจารณารับรองแนวเขตร่วมกัน และเสนอต่อ คทช. ส่วนพื้นที่กันชนระหว่างอุทยาน เราต้องดูแลรักษาไว้ให้สัตว์ป่า ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในนโยบายรัฐบาลที่ต้องการรักษาพื้นที่สีเขียวของประเทศ

นายประยูร กล่าวว่า ในส่วนการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ หลังจากคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ได้รับที่ดินจากกระทรวงทรัพยากรฯแล้ว จะมีคณะกรรมการพัฒนาที่ดินมาดำเนินกานจำแนกที่ดิน ซึ่งทางคณะกรรมการเป็นว่าเรื่องของปัญหาที่ดิน ส.ป.ก. ครั้งนี้ เกิดจากการที่คณะดำเนินการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เช่นกรณีการทำ วันแม็พ ส่วนที่ 2 มีการเว้นพื้นที่บางส่วน เช่นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า และในการทำวันแม็พ ส่วนที่ 3 มีการเว้นพื้นที่บางส่วน เช่นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมาและปราจีนบุรี ตนจึงแจ้งให้เลขานุการของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ส่งเรื่องให้ รมว.เกษตรฯ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ขอให้ คทช. นำพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการแบ่งเขตทับซ้อนมาดำเนินการแก้ไขก่อน ดังนั้นคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (วันแม็พ) และแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐ เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ให้เสร็จภายใน 2 เดือน กังนั้นหลังจากคณะอนุกรรมการวันแม็พ ดำเนินการเสร็จแล้ว ก็จะส่งเรื่องไปยัง คทช. ซึ่งจะถือว่าได้ข้อยุติ และทั้งสองกระทรวงจะดำเนินการตามวันแม็พที่ คทช. อนุมัติ

นายประยูร กล่าวอีกว่าส่วนพื้นที่กันชน เราจะไม่จัดสรรให้กับเกษตรกร แต่อาจจะดำเนินการในลักษณะของป่าชุมชน หรือเว้นไว้เพื่อให้เป็นประโยชน์กับทางอุทยาน ส่วนพื้นที่แนวเขตที่เราได้จัดสรรไปแล้วนั้น ซึ่งมีบางส่วนถูกตั้งคำถามว่า ไม่ได้ให้กับผู้ที่เป็นเกษตรกร ตนได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ทั้งหมดเป็นหัวหน้าทีมและตั้งคณะทำงานในระดับเขตและระดับจังหวัด ตรวจสอบว่าเกษตรกรที่ได้รับที่ดิน ส.ป.ก. ทั่วประเทศ เป็นเกษตรกรตัวจริงหรือไม่ ซึ่งถ้าตรวจพบว่าไม่ได้เป็นเกษตรกรจริงๆ จะต้องถูกเพิกถอนการได้รับสิทธิ ส.ป.ก. และดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการที่จัดสรรที่ดินให้กับบุคคลดังกล่าว ทั้งนี้ เรื่องการแก้ปัญหาที่ดินอุทยานซ้อนทับกับที่ดิน ส.ป.ก. นั้น เราจะแก้ปัญหาทั่วประเทศ พื้นที่ไหนที่เกิดปัญหา ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องหารือร่วมกันในระดับพื้นที่ก่อน และส่งเรื่องให้กับ คทช. และคณะอนุกรรมการวันแม็พ ให้ดำเนินการพิจารณาและตัดสิน และเมื่อมีการตัดสินข้อพิพาทออกมาอย่างไร ทั้งสองกระทรวงก็จะยึดตามนั้น

“การทำงานของทั้งสองฝ่าย เราจะร่วมกันทำอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศทั้งในเรื่องของป่า เรื่องของสัตว์ป่า และเรื่องของประชาชน จึงขอให้ทุกคนสบายใจได้ โดยเราให้ทุกหน่วยงานมาร่วมกันพูดคุยเพื่อให้การทำงานร่วมกันมีความชัดเจนที่สุด” นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพล กล่าวว่า ทางกรมอุทยานฯ และ ส.ป.ก. จะมีการกำหนดจัดตั้งทีมงานร่วมกันในระดับส่วนกลาง และจะต้องประสานงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ด้วย ซึ่งเราได้กำหนดกรอบเวลาที่ต้องเร่งทำงานให้เสร็จภายใน 30 วันแรก ซึ่งจะต้องนำขอบเขตตามกฎหมายของทั้งสองหน่วยงานมาวางเปรียบเทียบกันว่า มีการทับซ้อนหรือไม่ตรงกันอย่างไร แล้วกำหนดให้พื้นที่ทั้งสองเส้นนั้น เป็นพื้นที่เป้าหมาย เพื่อจะทำให้เราทราบว่าทั้งประเทศมีพื้นที่ใดบ้างที่มีเส้นไม่ตรงกัน และมาทำความเข้าใจและตกลงร่วมกันภายใน 30 วัน ส่วนที่เหลือจะต้องรอผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการวันแม็พ แต่สิ่งที่เราจะดำเนินการเร่งรัดคือการสำรวจว่าพื้นที่ไหนที่ยังได้ข้อยุติไม่ตรงกัน ก็จะส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการวันแม็พ แต่ตรงไหนสามารถหาข้อยุติได้ ทั้งสองหน่วยงานก็จะดำเนินการว่าจะให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ หรือเป็นพื้นที่ ส.ป.ก.

ด้านนายวิณะโรจน์ กล่าวว่า ตนได้มีหนังสือส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดไปแล้ว เพื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา ให้แต่ละจังหวัดตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วย 9 หน่วยงาน พิจารณาแนวเขตการจัดที่ดอนให้เกษตรกร กรณีที่เป็นที่ดินที่ไม่เคยจัดให้แก่บุคคลใดตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประกอบด้วย 9 หน่วยงาน ได้แก่ 1.ปฏิรูปที่ดินจังหวัด 2.หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหรือหัวหน้าวนอุทยาน 3.สำนักงานป่าไม้จังหวัด 4.สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัด 5.สำนักงานที่ดินจังหวัด 6.สำนักงานธนารักษ์จังหวัด 7.สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์จังหวัด 8.สำนักงานพัฒนาสังคมและสวัสดิการจังหวัด 9.สำนักทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ทับซ้อนกับพื้นที่ของ 9 หน่วยงานหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. โดยมิชอบ ตนจะให้ดำเนินการเอาผิดกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย และจะให้มีการตรวจสอบเช่นนี้ทุกปี โดยจะให้มีการสแกนพื้นที่ด้วยแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ และในวันนี้เราคิดว่าควรจะต้องทำงานให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่ง ส.ป.ก. ยินดีให้มีการตรวจสอบ ถ้าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ทับซ้อนและยังไม่ได้ข้อยุติ เราจะไม่ทะเลาะกัน โดยจะให้ส่งคณะอนุกรรมการวันแม็พ ตัดสินให้เกิดความชัดเจน

“ถ้าพื้นที่ไหน เป็นส่วนที่ทางกรมอุทยานฯ เตรียมไว้ ก็ต้องแจ้งให้เราทราบ เพราะว่าบางทีทาง ส.ป.ก. ก็ไม่รู้ ทำให้มีการออกเอกสารสิทธิไปให้ประชาชน ซึ่งเมื่อพบปัญหาเช่นนี้ ทางเราก็ต้องเยียวยาให้กับประชาชนในพื้นที่ เพราะเป็นการออกเอกสารตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน วันนี้ทุกฝ่ายขอทำงานร่วมกัน ส่วนเรื่องในอดีตก็ขอช่างหัวมัน เราไม่ขอพูดถึง เพราะทุกๆ หน่วยงานก็ต้องการทำงานให้กับชาวบ้าน เพียงแต่เจตนารมณ์ในการทำงานของแต่ละหน่วยงานไม่ตรงกัน ฝ่ายของคุณชัยวัฒน์เป็นนักอนุรักษ์ ส่วนผมมีหน้าที่จัดหาที่ดินให้ชาวบ้าน ผมก็ต้องทำหน้าที่ แต่วันนี้เรามาพูดคุยกัน และ ส.ป.ก. ได้ทำหนังสือแจ้งทุกจังหวัดแล้ว เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพื่อจะได้ไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกในอนาคต” นายวิณะโรจน์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า การเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันในวันนี้ ปลัดทั้งสองกระทรวงได้มีความเห็นตรงกัน สำหรับตนในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา ก็ต้องยอมรับข้อตกลงดังกล่าว ส่วนการที่ตนเคยบอกว่าจะไม่ยอมรับวันแม็พนั้น หมายความว่าถ้าเป็นกรณีกรมแผนที่ทหารจัดทำแผนที่ฉบับนั้น ตนจะไม่ยอมรับ แต่จากวันนี้เป็นต้นไป จะเป็นการดำเนินการตามอำนาจของคณะอนุกรรมการวันแม็พ ที่จะขีดเส้นแผนที่ ณ ตอนนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ ที่จะได้รักษาพื้นที่ป่า ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าของกรมป่าไม้ และแนวเชื่อมป่าต่างๆ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า จึงไม่ควรถูกนำไปใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ ส.ป.ก. อีกต่อไป

ว่าที่ ร.ต.พีรพล กล่าวว่า เรื่องการจัดทำวันแม็พ ขณะนี้เสร็จไปแล้วสามส่วน ขณะที่การที่จะเร่งดำเนินการวันแม็พสำหรับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้มีการกำหนดกรอบเวลาให้เสร็จภายใน 2 เดือน ส่วนการจัดทำวันแม็พให้เสร็จทั่วประเทศ 77 จังหวัด คาดว่าจะดำเนินการเสร็จภายในปีงบประมาณ 2568