เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ณ ห้องประชุมนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายศรัณย์ศักดิ์ ศรีเครือเนตร รองอธิบดีกรมการปกครอง นายพัลลภ เตชะมงคลาภิวัฒน์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน คณะผู้บริหารจังหวัดบุรีรัมย์ หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดบุรีรัมย์ นายอำเภอ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ และพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวมหาดไทยทุกคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และปฏิบัติภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุขได้เป็นอย่างดี ตามเป้าหมายเชิงปริมาณที่ได้กำหนดไว้ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น เราต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายเชิงคุณภาพเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เริ่มตั้งแต่การใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยการทำให้ทุกครัวเรือนมีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ส่งเสริมการใช้ธนาคารขยะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้เรามีทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว แต่เราต้องทำให้มีธนาคารขยะครบทุกหมู่บ้าน ทำให้เกิดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง (ครัวเรือน) ทำให้ประชาชนเป็นมนุษย์ 3Rs คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) หมั่นลงพื้นที่ไปติดตามถามไถ่ ตรวจเยี่ยม ให้คำแนะนำ ตามหลักการทรงงานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คือ “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” เพื่อให้เกิดการใช้งานและต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างหลากหลาย เช่น นำเศษอาหารไปเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ก็ถือเป็นการกำจัดขยะเปียกรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้ การส่งเสริมด้านอื่น ๆ อาทิ การทำให้เกิดสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เส้นทางจักรยานขาไถที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกายเเละจิตใจของเด็กเล็กในพื้นที่ การส่งเสริมการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอในฐานะผู้นำต้อง Change for Good ต้องให้ความสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรง

“ในการขับเคลื่อนงานด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง กระทรวงมหาดไทยมีภารกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 11 : ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน ที่ต้องคำนึงถึงการเป็นหุ้นส่วน (Partnership) โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” เป็นงานที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินพี่น้องประชาชนอย่างชัดเจน เราต้องช่วยกันวางเเผนให้เป็นระบบ เช่น ในเรื่องการป้องกันน้ำแล้งต้องมีเรื่องการป้องกันน้ำท่วมควบคู่ไปด้วย ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานหลักสำคัญในการบริหารจัดการน้ำไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเราต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ในหน้าฝน สามารถมีทางให้น้ำไหลไปสู่ที่อยู่ของน้ำ เช่น เเก้มลิง หลุมขนมครก หรือธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดในธรรมชาติ เวลาเกิดน้ำท่วมแล้วน้ำไม่ได้ท่วมฉับพลัน มีการชะลอน้ำจากรากของต้นไม้ที่มีการดูดซึมกักเก็บน้ำไว้ และเมื่อยามหน้าแล้ง ก็จะมีน้ำไว้ใช้เพียงพอ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานสิ่งที่เรียกว่า “อารยเกษตร” หรือ “โคก หนอง นา” อันเป็นพื้นที่ที่จะทำให้ชีวิตของเราได้มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์โชคดีที่มีปราชญ์ชาวบ้าน คือ “ลุงคำเดื่อง ภาษี” แห่งอำเภอแคนดง ที่ท่านมองภาพรวมอย่างเป็นระบบในการจัดการน้ำ และการเเก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยการพึ่งธรรมชาติ พึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่น อันสอดคล้องกับการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo- Social Map) ของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยเราสามารถเชิญท่านมาเป็นหัวขบวนทำให้สิ่งที่ท่านทำได้เกิดการขยายผลครอบคลุมในทุกพื้นที่ นอกจากนี้ ในเรื่องการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน ต้องมีการสื่อสาร สะท้อนข้อมูลสถิติ จุดเสี่ยง ความเสี่ยงทุกมิติอย่างต่อเนื่อง มิใช่รณรงค์เพียงช่วงวันหยุดยาว หรือเทศกาลประเพณีสำคัญ อย่าทำแบบไฟไหม้ฟางที่เมื่อเกิดเหตุจึงจะมากระตุ้นเตือนกันเป็นครั้ง ๆ ด้วยการคิดนวัตกรรมเพื่อต่อยอดวิธีการทำให้คนในชุมชนสวมหมวกกันน็อค คาดเข็มขัดนิรภัย ถ้าดื่มสุราแล้วต้องไม่ขับรถ ถ้าง่วงต้องไม่ขับ ต้องไม่ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด เคารพกฎจราจร หยุดให้คนเดินข้ามทางม้าลาย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า พวกเราทุกคนในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะต้องช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น ต้องทำทันที (Action Now) เพราะกรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จวันเดียว กระทรวงมหาดไทยของพวกเรา จังหวัดบุรีรัมย์ของพวกเรา ก็เช่นกัน ถ้าเรารักในองค์กร รักในพื้นที่ รักพี่น้องประชาชน เราต้องช่วยกันสร้างสรรค์ให้เกิดการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เพราะงานเหล่านี้เป็นความภาคภูมิใจของพวกเราผู้เป็นที่คาดหวังของประชาชนในฐานะผู้บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ซึ่งจุดแตกหักของการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนอยู่ที่ “หมู่บ้าน” ดังนั้น สิ่งสำคัญ เราต้องทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ครอบคลุมทั้ง 8 ตัวชี้วัด รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ อาทิ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ในมิติยาฝรั่งถึงแม้ว่าเราจะสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยเเล้ว แต่งานยังไม่จบ เพราะหากไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จก็ต้องส่งเรื่องให้ตำรวจดำเนินคดี เพราะการให้กู้ยืมเงินโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และหากข้อมูลไม่ครบถ้วนก็ต้องค้นหาข้อมูลให้ครบถ้วน รวมถึงการประสานสถาบันการเงินของรัฐในการช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งทุกขั้นตอนการแก้ไขปัญหา ทุกการดำเนินการ ก็ต้องรวบรวมและประมวลข้อมูลให้รัฐบาลได้ทราบและเเก้ไขเชิงนโยบายต่อไป ขณะเดียวกันการส่งเสริมในมิติยาไทย เราต้องมั่นใจว่าเรามีหลักประกันที่ประชาชนจะไม่เป็นหนี้อีก ด้วยการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ” ส่งเสริมประชาชนให้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและโครงการพระราชดำริต่าง ๆ เข้ามาช่วย พร้อมฝึกฝนวิชาชีพ พัฒนาศักยภาพของเขา ทำให้เขาสามารถพึ่งพาตนเองได้

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ได้พัฒนาพื้นที่บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ให้เป็นโอเอซิสของจังหวัด ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว มีต้นไม้จำพวก ต้นปีบ ราชพฤกษ์ จาน สะแบง ปรับปรุงพื้นที่เป็นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มีสนามปั่นจักรยาน มีการจัดกิจกรรมให้พื้นที่ เชิญชวนภาคีเครือข่ายมาร่วมกันคิดสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ทั้งกายเเละใจ ช่วยสร้างเสียงหัวเราะ เสียงลมหายใจแห่งความสุข และความมีชีวิตชีวาที่ยั่งยืนของคนบุรีรัมย์

“สิ่งสำคัญที่เป็นหลักชัยการทำงานของพวกเรา คือ เราต้องน้อมนำพระบรมราชโองการในการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” เเละพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาย้ำเตือนจิตใจ และยึดเป็นแนวทางในการทำงาน ด้วยการมุ่งมั่นเเบ่งเบาพระราชภาระของพระองค์ท่าน ต้องเริ่มจากจุดเล็ก ๆ “ระเบิดจากข้างใน” ใช้เทคโนโลยี แพลตฟอร์ม ThaiQM มาสำรวจตรวจสอบสภาพปัญหาทุกเรื่อง เพื่อใช้กำหนดแนวทางแก้ปัญหา สร้างทีมงานที่เข้มเเข็ง ด้วยการเป็นผู้นำ (Leader) ทั้งทีมที่เป็นทางการ คือ ปลัดอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหาร อปท. และทีมที่ไม่เป็นทางการ คือ ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี เเละต้องกระตุ้นปลุกเร้า สร้าง Passion ทำให้เขามีจิตใจรุกรบ และยึดมั่นในปณิธานแห่งการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” รักพี่น้องประชาชน ด้วยการทุ่มเทสรรพกำลัง ทำให้ระบบคุ้มบ้านเข้มแข็ง มีการร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ เเละร่วมรับประโยชน์ รวมทั้งขอความเมตตาจากคณะสงฆ์ ให้เกิด “พระสงฆ์ประจำตำบล” ร่วมกับฝ่ายปกครอง ขับเคลื่อนงานตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับมหาเถรสมาคม คือ โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โครงการสาธารณสงเคราะห์ และโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 (หมู่บ้านศีลธรรม) ที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดของหมู่บ้านยั่งยืน โดยคนมหาดไทยทุกคนสร้างความสัมพันธ์ สร้างมิตรภาพที่ดีให้สำเร็จ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และความร่วมมือในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับฐานราก เป็น “ราชสีห์ผู้ภักดีต่อเเผ่นดิน” ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย