วันที่ 29 มี.ค. นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงพลังงานได้ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน โดยเฉพาะค่าน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุนของสินค้าและบริการ โดยมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาท ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 เป็นต้นมา ทำให้ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการชดเชยราคาน้ำมันดีเซล เป็นหนี้ใกล้ 1 แสนบาทแล้ว

ทั้งนี้ เพื่อมิให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระหนี้มากเกินไป และเป็นการรักษาสภาพคล่องและความเชื่อมั่นของกองทุนฯ กระทรวงพลังงาน จะนำเรื่องเข้าหารือใน ครม. เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ ประชาชนไปพร้อมกับการลดภาระหนี้ของกองทุนฯ

แต่หากไม่มีงบประมาณจากส่วนอื่นเข้ามาช่วย เช่น งบกลาง หรือ การลดอัตราภาษีสรรพสามิต เบื้องต้นคาดว่ากองทุนฯ จะต้องปรับลดอัตราการชดเชยราคาน้ำมันลง 1-2 บาทต่อลิตร ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น แต่เพื่อมิให้เป็นภาระกับประชาชนมากเกินไป จึงจะมีการปรับลดการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลแบบขั้นบันได

ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน เข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน จะเห็นได้ว่า ได้มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนของสินค้าและบริการ จึงได้มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ที่ 30 บาทต่อลิตรมาอย่างต่อเนื่อง และบางช่วงราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงเคยสูงถึง 45 บาทต่อลิตร แต่เนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลก มีความผันผวนในระดับสูง ทั้งจากภาวะความสงครามที่มีความยืดเยื้อ และจากการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปก กระทรวงพลังงาน จึงมีมาตรการช่วยเหลือผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ ณ วันที่ 24 มีนาคม 2567 สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบกว่า 98,000 ล้านบาท

ขณะนี้กระทรวงพลังงาน เตรียมนำเรื่องเข้าหารือใน ครม. เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชน อาจจะเป็นการของบกลาง หรือ ขอความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง ในการลดอัตราภาษีสรรพสามิต ซึ่งหากไม่มีงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือ กองทุนฯ จำเป็นต้องปรับลดอัตราการชดเชยลง 1-2 บาทต่อลิตร ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น แต่เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จะมีการปรับลดอัตราการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลแบบขั้นบันได ปัจจุบันมีการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 4.17 บาทต่อลิตร คิดเป็นจำนวนเงินที่กองทุนฯ ต้องจ่ายประมาณ 8,700 ล้านบาทต่อเดือน จึงขอให้ประชาชนเข้าใจในสถานการณ์ ณ เวลานี้ด้วย