สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ว่า รายงานดัชนีขยะอาหารฉบับล่าสุดของยูเอ็น ระบุว่า อาหารมูลค่ารวมมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 36 ล้านล้านบาท) ถูกทิ้งโดยครัวเรือนและธุรกิจ ขณะที่ประชากรโลกเกือบ 800 ล้านคน ประสบกับความหิวโหย

นอกจากนี้ การทิ้งอาหารในปี 2565 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากครัวเรือน ก็มีปริมาณมากกว่า 1,000 ล้านตัน หรือคิดเป็นเกือบ 20% ของผลผลิตทั้งหมดที่มีอยู่ในตลาด

FRANCE 24 English

“ขยะอาหาร คือ โศกนาฏกรรมระดับโลก ผู้คนนับล้านจะหิวโหยในวันนี้ เนื่องจากอาหารถูกทิ้งเป็นจำนวนมากทั่วโลก” นางอินเจอร์ แอนเดอร์สัน กรรมการบริหารของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) กล่าวในแถลงการณ์

อนึ่ง รายงานระบุเสริมว่า การทิ้งอาหารไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณธรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็น “ความล้มเหลวด้านสิ่งแวดล้อม” ด้วย เนื่องจากขยะอาหารปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อน มากกว่าภาคส่วนการบินถึง 5 เท่า และก่อให้เกิดการแปลงที่ดินขนาดใหญ่ให้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชผลที่ไม่เคยรับประทาน

ด้านนางคลีเมนไทน์ โอคอนเนอร์ จากยูเอ็นอีพี กล่าวว่า การรวบรวมข้อมูลข้างต้น ช่วยทำให้ระดับปัญหาขยะอาหารมีความชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมกับชี้ว่า ปริมาณขยะอาหารที่แท้จริง อาจสูงกว่าตัวเลข “1,000 ล้านมื้อ” ที่ประมาณการไว้อย่างมาก

ขณะที่ นายริชาร์ด สวอนเนลล์ จากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร “แรป” (WRAP) ซึ่งเขียนรายงานดังกล่าวร่วมกับยูเอ็น กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาขยะอาหารส่วนใหญ่เกิดขึ้น เพราะผู้คนซื้ออาหารมากเกินความต้องการของตัวเอง, การไม่รับประทานอาหารเหลือ, ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับวันหมดอายุ และการขาดแคลนตู้เย็นสำหรับการเก็บรักษาอาหาร ในประเทศกำลังพัฒนาบางแห่ง.

เครดิตภาพ : AFP