เมื่อวันที่ 19 ก.ค. รายการโหนกระแส พูดคุยกับ 2 นักวิชาการการเมือง หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ชั่วคราว โดยบรรยากาศในสภาตอนนี้กำลังถกกันอย่างดุเดือด เพราะ สว.กิตติศักดิ์ มีการลุกขึ้นยืนอ่านคำสั่งศาลจากสมาร์ตโฟน ที่สั่งให้นายพิธา ยุติการปฏิบัติหน้าที่ สส. ทำให้นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ลุกประท้วงว่า ตามระเบียบราชการต้องรอให้หนังสือราชการจากศาลมาถึงประธานสภาก่อน อย่ากระเหี้ยนกระหือรือแบบนี้เลย

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นไม่เกินความคาดหมาย ที่เราเคยคุยกันในรายการโหนกระแสเมื่อเดือนที่แล้ว ว่าการสั่งแขวนคุณพิธาอาจมาเกิดขึ้นในไทม์ไลน์นี้ ซึ่งหากสังเกตให้ดี การที่ สว. หลายท่านไม่มาประชุมสภา ในวันโหวตเลือกนายกฯ สัปดาห์ที่แล้ว ก็แจ่มชัดขึ้นมาว่า เขาขาดประชุมเพราะอะไร ก็เพราะจะรอศาลรัฐธรรมนูญ ให้มีคำสั่งออกมาในวันนี้นั่นเอง

ขณะที่ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า เรื่องนี้เป็นเกมที่ทำให้สถานการณ์ในสภาเปลี่ยนแปลงไป ก้าวไกลจะต้องเดินต่อโดยไม่มีหัว จะเป็นไปได้ไหมว่าจะเกิดภาพ “ผึ้งแตกรัง” แบบตอนที่เกิดขึ้นกับ พรรคอนาคตใหม่

อ.ปริญญา ยกกรณีนี้ไปเทียบเคียงกับกรณีของนายธนาธร ที่ศาลมีคำสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ สส. แบบเดียวกันเลย แต่ ณ วันนี้ เรายังมาถกเถียงเรื่องเสนอชื่อนายพิธาได้หรือไม่ได้อยู่เลย ยังมาถกกันว่าเป็นญัตติหรือไม่ใช่ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ญัตติมันเป็นเรื่องของข้อบังคับ ซึ่งจริงๆมันเป็นเรื่องเล็กมาก เทียบไม่ได้กับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มันเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ที่เป็นกฎหมายใหญ่สุดในประเทศ บทบัญญัติ หรือข้อบังคับใดจะมาขัดหรือแย้งไม่ได้

อ.ยุทธพร มองตรงกันว่า เกมนี้ไม่ใช่การถกกันเรื่อง “ญัตติ” แต่เป็นการนำไปสู่การ “ยุติ” ผลักดันไปเพื่อไม่ให้มีการโหวตคุณพิธาในรอบที่ 2 มากกว่า เพราะการดำเนินการโหวตเลือกนายก ทุกคนรู้กันดีอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่ “ต้องทำ” ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาถกกันว่าทำได้หรือไม่ได้ แต่ “ต้องทำ”

หลังจากนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า นายพิธา ไม่น่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว และท่าทีของ สว. ที่ยืนยันชัดเจนว่าจะไม่โหวตให้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนเป็นแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย แต่ถ้ายังมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลอยู่ ก็จะไม่โหวตให้ ทำให้ อ.ยุทธพร มองว่า ตอนนี้เกมไปตกอยู่ที่การ “ไขว้ข้ามขั้ว” ของทางเพื่อไทย ว่าจะไปจับมือกับใคร เพื่อให้ได้เสียงโหวตนายกฯ เพียงพอ ซึ่งก็มีอยู่หลายสูตรต่างๆ กันไป ทั้งสูตรที่ “มีลุง” และ สูตรที่ “ไม่มีลุง” สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอนคือ การปรับสมการตั้งรัฐบาล และมีความเป็นไปได้สูงว่า สมการนั้นจะไม่มีพรรคก้าวไกล

แต่ทาง อ.ปริญญา มองว่า ก่อนจะไปถึงฉากทัศน์แบบนั้นได้ ตอนนี้ความกดดันต่างๆ จะไปอยู่ที่พรรคเพื่อไทย คะแนนสงสารต่างๆ มันเทไปทางก้าวไกล ยิ่งบีบให้ทางเพื่อไทยปล่อยมือก้าวไกลไม่ได้ เพราะท้ายที่สุด ถ้าเพื่อไทยไม่ปล่อยมือเอง เพื่อไปจับกับขั้วอื่น ยังไงขั้วตรงข้ามก็ตั้งรัฐบาลแข่งไม่ได้  ยิ่งก้าวไกลยืนยันว่า จะยืนหยัดอยู่กับเพื่อไทย นั่นหมายความว่า ทางเดียวที่สลัดก้าวไกลออก คือเพื่อไทยต้องปล่อยมือเอง เพราะฉะนั้น อ.ปริญญา มองว่า การรีบผลักก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน จะทำให้พรรคเพื่อไทยเสียคะแนนเอง

อ.ปริญญา ยังยืนยันอีกว่า สถานการณ์ของนายพิธา ณ เวลานี้ ยังเป็น สส. อยู่ ไม่ได้พ้นจากการเป็น สส. เพียงแต่ศาลสั่งให้ “ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย”

ส่วนกรณีของกระแสที่บอกว่า ขอให้พรรคก้าวไกลยอมหลับตาข้างหนึ่งได้ไหม ยอมถอยบางเรื่องได้ไหม เพื่อให้เข้าไปเป็นฝ่ายบริหารก่อน เรื่องนี้ อ.ปริญญา มองว่า ก้าวไกลเผชิญกับโมเมนตัมมากมายทางการเมือง ตอนนี้เรื่องการเมืองมันไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว มันกลายเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจมาก แม้แต่รายการโหนกระแสที่ทำประเด็นเรื่องสังคม ยังหันมาทำเรื่องการเมือง การที่ก้าวไกลจะยอมลด หรือยอมถอยจุดยืนอะไรต่างๆ มันมีผลกระทบหลายอย่าง

เรื่องนี้ขอให้มองไปที่พรรคเพื่อไทย ว่าหลังจากนี้เขาจะมีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว เขาจะเติมอะไรเข้ามา เขาจะปรับเกมอย่างไร จะสำเร็จหรือไม่

ขณะที่ อ.ยุทธพร บอกว่า เพื่อไทยมีความเก๋าเกมมากกว่า การจับมือ 8 พรรคร่วมมันขาดความสมดุล คือมีเสียงส่วนใหญ่แค่ 2 พรรค ที่เหลือเป็นพรรคต่ำกว่า 10 เสียงทั้งหมด เท่ากับว่า เพื่อไทยหรือก้าวไกล พรรคหนึ่งพรรคใดถอดปลั๊ก จะจบทันที แต่เพื่อไทยมีความเก๋าเกมมากกว่า มีคอนเนกชั่นมากกว่า ยอมโอนอ่อน ยอมลดบางอย่าง ทำให้เรายังไม่สามารถตัดความเป็นไปได้เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีพรรคก้าวไกล