เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่รัฐสภา เวลา 16.00 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา  รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงกรณีที่นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ตั้งคำถามด้วยความเป็นห่วงชาวสวนยางว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ  คำถามนี้ตนได้ถามผู้บริหารการยาง และบอร์ดการยางว่าเมื่อเราทำมาตรฐานสูงแล้วเราจะรักษาอย่างไร  ซึ่งนโยบายแต่ละรัฐบาลก็มีจุดเด่น จุดขายเป็นของตัวเอง แต่ละรัฐบาล เพราะฉะนั้นอุปสงค์และอุปทานมีผลต่อราคายาง บอร์ดการยาง ทางตลาดยุโรป ส่งออก 88 เปอร์เซ็นต์ 4.8 ล้านตัน และใช้ในประเทศ 12 เปอร์เซ็นต์ อย่าใช้งบประมาณบิดเบือนตลาด เช่น การประกันราคา และเขาขอให้ประเทศไทยเป็นประเทศนำร่องในการที่จะพลิกล็อกมาตรการอียูดีอาร์ ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ย้ำเสมอว่า เราต้องใช้ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ดังนั้นดีมานด์ ซัพพลาย อุปสงค์ อุปทานเป็นเรื่องสำคัญที่จะรักษาเสถียรภาพราคายาง เราจะปลูกอะไรก็ต้องดูว่าผู้ใช้ต้องการสินค้าประเภทอะไร มีมาตรฐานอย่างไร เข้ากับความต้องการของตลาดโลกอย่างไร ส่วนนโยบายที่จะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องเข้าใจว่าวันนี้บริบทของตลาดโลกเปลี่ยนไปอย่างไร ผู้ที่ใช้อุตสาหกรรมการยางเขาต้องการมาตรฐานอะไร เวลานี้ทั้งตลาดยุโรป และเพื่อนบ้านเรา ต่างก็ตื่นตัวในนโยบายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (European Union’s Deforestation Regulation: EUDR) สินค้าเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเทศเพื่อนบ้านกระทบแน่นอน ทำให้ปริมาณยางประเทศเพื่อนบ้านลดลง

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า จากการศึกษาตลาดภายในประเทศมี 12 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตลาดส่งออกยาง 88 เปอร์เซ็นต์ถือว่าใหญ่ที่สุด ปริมาณยางในแต่ละปี มีอยู่ 4.8 ล้านตัน  ตนและผู้บริหารการยางก็พยายามรณรงค์ให้มีการใช้ยางภายในประเทศให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังใส่ใจตลาดนอกเขาไม่ต้องการให้รัฐบาลไทย โดยตนได้ไปเจรจากับสหภาพยุโรป ในการประชุมกรีนวีค ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ต้นเดือน ม.ค. เขาขอร้องว่าอย่าใช้นโยบายบิดเบือนกลไกตลาดเสียหาย คือการประกันราคา ต้องใช้งบประมาณมหาศาล เขาขอร้องอย่าทำเด็ดขาด และขอร้องเด็ดขาดในเดือน ธ.ค. 2567 ทั่วโลกต้องทำคือมาตรการเข้มข้นอียูดีอาร์ สมัยรัฐบาลที่แล้วตนเป็นรมช.เกษตรฯ ทราบว่ามีการคุยแต่ไม่ได้ทำ เพราะสวนยางในประเทศมีมหาศาล เมื่อกลับมาเป็นก็มาได้มารณรงค์คิกออฟเรื่องอียูดีอาร์ ซึ่งได้สำรวจไปแล้วกว่า 2 ล้านไร่ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทูตได้มาพบตน และเมื่อวานนี้องค์การไม่แสวงหากำไรก็มาพบ และขอให้ประเทศไทยเป็นประเทศนำร่อง ในเรื่องมาตรการอียูดีอาร์ เมื่อเขาเชื่อมั่นว่าเราทำได้ เรามีผู้แทนการค้าไทยเดินไปสภาพยุโรป เรามีฝ่ายต่างประเทศไปเจรจาเรื่องเหล่านี้ เพราะฉะนั้นที่เกิดขึ้นในขณะนี้ประเทศไทยได้เปรียบที่จะเป็นประเทศแรกเจ้าใหญ่ที่จะนำร่องในเรื่องของการปลูกยาง การผลิตภัณฑ์ยาง การทำยางโดยไม่ทำให้ป่าไม้ทำลายระบบนิเวศ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รมว.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า ดังนั้นบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ เขาต้องการให้เราทำเป็นต้นแบบ และเขาเชื่อมั่นในผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทย บอร์ดการยาง ซึ่งการทำงานในยุคนี้ตนไม่ได้ใช้ระบบราชการนำ เราเป็นผู้กำกับนโยบายต้องนำข้าราชการ พอเราทำแบบนี้ทำให้ราคายางกระเตื้องขึ้น เพราะเราทำในสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ดีมานด์ ซัพพลายถึงจะสมดุลกัน ส่วนการปราบยางเถื่อน นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.ความมั่นคงฯ ก็ลงไปตรวจยางเถื่อนกับตน ที่ อ.สังขละบุรี ทำให้ปริมาณยางที่ทะลักเข้าบ้านเราน้อยลง จึงเป็นเหตุเป็นผลดีมานด์และซัพพลายสมดุลกัน ขอบคุณที่นายชวน ให้ข้อมูลหลายๆ อย่างตรง ไม่ได้โต้ตอบ เพียงเสริมข้อมูลของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และตอบคำถาม ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ให้กับพี่น้องชาวสวนยาง.