เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 ที่รัฐสภา นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สว.ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรอบเวลาในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ว่า ขณะที่ร่างดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ทาง กมธ.หลายคณะได้ศึกษาล่วงหน้าในร่างที่เทียบเคียงกัน อาทิ พ.ร.บ.สัญชาติ  พ.ร.บ.อุ้มบุญ  พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ พ.ร.บ.รับบุตรบุญธรรม เป็นต้น เมื่อวุฒิสภาบรรจุเข้าที่ประชุม ตนก็ไม่แน่ใจว่าจะผ่านได้ง่าย แต่หลังจากฟังสมาชิกอภิปรายเลยมั่นใจได้ว่า สว.เกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ จึงมีมติผ่านวาระที่ 1 จากนั้นได้มีการนัดประชุมเมื่อวันที่ 2 เม.ย. โดยได้ตั้งตนเป็นประธาน กมธ. รวมถึงแต่งตั้งตัวแทนจากภาคประชาชนในตำแหน่งทุกระดับ และเร่งประชุมให้เสร็จสิ้นภายในเดือน พ.ค. โดยมีการนัดประชุมสัปดาห์ละ 2 วัน ซึ่งในรายละเอียดก็ไม่น่าจะมีปัญหา รอเพียงแต่ผู้แปรญัตติซึ่งให้กรอบเวลาไว้ 7 วัน โดยจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. เพื่อในเดือน มิ.ย. จะได้ตรวจสอบรายละเอียดโดยถี่ถ้วน ยืนยันว่าขั้นตอนในวุฒิสภาเสร็จก่อนเวลาเปิดประชุมวุฒิสภาแน่นอน 

เมื่อถามว่า จะทันใน สว.ชุดนี้หรือไม่ นายวัลลภ กล่าวว่า คำว่าทันคือภายใต้เงื่อนไขกำหนดเวลาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เราสามารถเปิดประชุมสมัยหน้า ได้เพียง 3-4 วันเท่านั้น เมื่อเปิดจะขอประธานนำกฎหมายเพื่อเข้าพิจารณาทันที หากไม่แก้มาก เชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎรจะเห็นชอบนำขึ้นทูลเกล้าฯ เท่าที่ดูไม่น่าจะมีการแก้อะไรมาก เพราะไม่มีหลักอะไรที่ยาก นอกจากมีความเป็นห่วงว่ากฎหมายจะแก้ทันหรือไม่ ซึ่งได้ปลดล็อกไว้แล้วว่าหากไม่ทันให้รายงานไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในแง่ของเจ้ากระทรวงนั้นๆ

เมื่อถามว่า จากการอภิปรายของ สว.ยังมีความเป็นห่วงเรื่องอายุ และศาสนา จะเป็นปัญหาหรือไม่ นายวัลลภ กล่าวว่า ร่างเดิมกำหนดอายุไว้ที่ 17 ปี แต่ทางสภาผู้แทนราษฎรได้ใช้เกณฑ์จาก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่งเป็นฐานกฎหมายที่ชัดเจนอยู่แล้ว หากใช้เกณฑ์อายุ 18 ปี จะเป็นสิทธิที่คุ้มครองเด็กโดยอัตโนมัติอยู่แล้วจำเป็นต้องขยับอายุขึ้นหรือลง ไม่เป็นปัญหาเพราะสามารถอธิบายได้ด้วยหลักกฎหมายที่มีอยู่ ส่วนเรื่องของศาสนาในกฎหมายไม่ได้บังคับศาสนาใด แต่ละศาสนาก็ปฏิบัติตามภารกิจของท่านไปตามดุลพินิจ ไม่มีปัญหาในเชิงปฏิบัติเป็นความกังวลมากกว่า แต่เท่าที่คุยในรายระเอียดไม่ใช่ปัญหาเลย

เมื่อถามถึง กรณีที่มีการมองว่าเป็นกฎหมายทิ้งทวนของ สว.ชุดนี้ นายวัลลภ กล่าวว่า ไม่จำเป็น ตนรอกฎหมายฉบับนี้มาโดยตลอด ครั้งที่แล้วที่กฎหมายถูกตีตกไปก็เสียใจ ไม่ใช่เรื่องของการทิ้งทวน ตนทำงานด้านสังคมมาโดยตลอด รวมถึงยังเร่งให้พิจารณากฎหมายหากวุฒิสภาพิจารณาไม่ทันตกในมือของ สว.จะเสียคน อะไรที่ยอมได้ก็ต้องยอม ไม่มีอะไรในโลก 100 เปอร์เซ็นต์ ได้ซัก 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าสุดยอดในเอเชียแล้ว ฉะนั้นไม่ใช่การทิ้งทวน แต่เป็นกฎหมายที่มาถึงมือเราช้ามากซึ่งตนก็ได้เร่งรัดมาโดยตลอด ยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ผ่านทัน สว.ชุดนี้แน่นอน ไม่มีปัญหาไม่ใช้กฎหมายที่ยาก เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติ ตัวบทไม่มีอะไรยากเป็นเพียงการแก้ประโยค สามี ภรรยา เป็นคู่สมรส แก้ชาย หญิง เป็นบุคคล เป็นเพียงการแก้ถ้อยคำเท่านั้นเอง.